มาตรา ๒๑ การพิจารณาคำขอและคำแถลง
เมื่อคู่ความฝ่ายใดเสนอคำขอหรือคำแถลงต่อศาล
(๑)
ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติว่าคำขอหรือคำแถลงจะต้องทำเป็นคำร้องหรือเป็นหนังสือ
ก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะยอมรับคำขอหรือคำแถลงที่คู่ความได้ทำในศาลด้วยวาจาได้
แต่ศาลต้องจดข้อความนั้นลงไว้ในรายงาน
หรือจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง
หรือยื่นคำแถลงเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
(๒)
ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ว่าคำขออันใดจะทำได้แต่ฝ่ายเดียว
ห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ
มีโอกาสคัดค้านก่อน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัด
(๓)
ถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่าคำขออันใดอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียวแล้ว
ให้ศาลมีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ
ก่อนออกคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ ได้
เว้นแต่ในกรณีที่คำขอนั้นเป็นเรื่องขอหมายเรียกให้ให้การ
หรือเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินก่อนคำพิพากษา หรือเพื่อให้ออกหมายบังคับ
หรือเพื่อจับหรือกักขังจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๔) ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้เสนอต่อศาลนั้นโดยไม่ต้องทำการไต่สวนแล้ว
ก็ให้ศาลมีอำนาจทำการไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควรก่อนมีคำสั่งตามคำขอนั้น
ในกรณีเรื่องใดที่ศาลอาจออกคำสั่งได้เอง
หรือต่อเมื่อคู่ความมีคำขอ ให้ใช้บทบัญญัติอนุมาตรา (๒),
(๓) และ (๔) แห่งมาตรานี้บังคับ
ในกรณีเรื่องใดที่คู่ความไม่มีอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่ง
แต่หากศาลอาจมีคำสั่งในกรณีเรื่องนั้นได้เอง
ให้ศาลมีอำนาจภายในบังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๐๓ และ ๑๘๑ (๒)
ที่จะงดฟังคู่ความหรืองดทำการไต่สวนก่อน
ข้อสังเกต หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา