หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

บุคคล

         ดังกล่าวแล้วว่า กฎหมายเป็นผลจากการที่บุคคลรวมตัวกันเป็นชุมชนและสังคม เมื่อมนุษย์ก่อตั้งกฎหมาย ระ เบียบ ข้อบังคับขึ้นมาก็เพื่อใช้บังคับกับบุคคลเพื่อให้สังคมเป็นสุข เป็นระเบียบแบบแผนนั่นเอง การที่กฎหมายบัญญัติขึ้นมาจึงย่อมใช้บังคับกับคนหรือมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลไว้ ดังนั้นบุคคลจึงเป็นผู้ทรงสิทธิหรือมีหน้าที่กระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ  และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
           ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แบ่งบุคคลตามกฎหมายออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ
           1. บุคคลธรรมดา
           2. นิติบุคคล
           ในบทนี้จะกล่าวถึงสภาพของบุคคลว่าเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด ภูมิลำเนาของบุคคลซึ่งจะมีผลในทางกฎหมาย นอกจากนี้จะกล่าวถึงความสามารถของบุคคล กฎหมายได้จำกัดการใช้สิทธิของบุคคลบางประเภทไว้ เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความบกพร่องทางสภาพร่างกาย หรือในทางสติปัญญา เป็นต้น การใช้สิทธิของบุคคลจะใช้โดยมีข้อจำกัดอย่างไร และสำหรับในกรณีนิติบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายรับรองสมมตว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องรู้ว่าประเภทต่าง ๆ ของนิติบุคคลมีอะไรบ้าง มีสิทธิหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาหรือไม่ การจัดการนิติบุคคลมีการแสดงความประสงค์ออกโดยผู้แทนคืออะไร มีอำนาจหน้าที่อย่างไร รวมตลอดถึงความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลเป็นอย่างไร
บุคคลธรรมดา
            การเริ่มสภาพบุคคล
            สภาพบุคคลจะเริ่มขึ้นเมื่อใดนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า " สภาพบุคคลย่อมเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย"
            จากบทบัญญัติมาตรานี้จะเห็นว่า การเริ่มสภาพบุคคลนั้น มีสาระสำคัญหรือองค์ประกอบ 2 ประการ คือ การคลอด และ อยู่รอดเป็นทารก
            1. การคลอด
            ตามธรรมดาทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาต้องถือว่ายังไม่ได้คลอด เมื่อยังไม่ได้คลอด ก็ยังต้องอาศัยออกซิเจนและอาหารจากมารดา ยังช่วยตนเองไม่ได้ เช่น การหายใจด้วยตนเองไม่ได้ ดังนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการคลอด เมื่อยังไม่คลอดจากครรภ์มารดา สภาพบุคคลก็ยังไม่เกิดขึ้น
              สำหรับการคลอด หรืออย่างไรที่เรียกว่าการคลอดนั้น ตามหลักกฎหมายถือว่า เมื่อทารกพ้นจากช่องคลอดของมารดาออกมาหมดตัวแล้ว กล่าวคือ ให้ถือว่าทารกพ้นอิสระจากครรภ์มารดาเรียบร้อยแล้ว แม้สายสะดือยังไม่ตัดขาดก็ถือว่าทารกแยกตัวจากครรภ์มารดาแล้ว
              2. การอยู่รอดเป็นทารก
            ความหมายของการอยู่รอดเป็นทารกคือให้นับตั้งแต่วินาทีที่ทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาหมดทั้งตัว(ครึ่งตัวไม่ได้) โดยปกติก็ถือการหายใจเป็นการแสดงการมีชีวิตอยู่ นั่นคือทารกอยู่รอดมีชีวิต แม้จะมีชีวิตอยู่เพียง 1 วินาทีแล้วตาย ก็ถือว่ารอดเป็นทารกแล้ว
              แม้การมีชีวิตของทารกจะพิจารณาจากการหายใจแต่ในวงการแพทย์ปัจจุบันถือว่าแม้ไม่หายใจแต่หัวใจเต้น สายสะดือเต้น มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่อยู่ในอำนาจจิต ถือว่ามีชีวิต แสดงว่าอยู่รอดเป็นทารก
           3. วันเกิดของบุคคล
              ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฏร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18 บัญญัติว่า ถ้ามีคนเกิดในบ้าน เจ้าของบ้านหรือบิดาหรือมารดา ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดภายในสิบห้าวันนับแต่เกิด และถ้ามีคนเกิดนอกบ้านให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่พึงแจ้งได้ในโอกาสแรกภายในสิบห้าวันนับแต่เกิด ในกรณีจำ เป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนดให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด
              วันเกิดนับว่ามีความสำคัญในยิ่งเพราะอาจมีปัญหาในทางกฎหมายเมื่อต้องนับอายุเกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่และความรับผิดของบุคคล ทั้งในส่วนกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น ๆ
              ในกรณีทางแพ่ง ได้แก่ เมื่อบุคคลอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ทำพินัยกรรมได้ อายุ 17 ปีบริบูรณ์ทำการสมรสได้ อายุ 20 ปีบริบูรณ์พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ
              ในกรณีทางอาญา ได้แก่ การลดหย่อนผ่อนโทษเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีกระทำความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ อายุเกินกว่า 7 ปีแต่ยังไม่เกิน 14 ปีไม่ต้องรับโทษจำคุก แต่ศาลใช้วิธีการพิเศษว่ากล่าวตักเตือน เรียกผู้ปกครองมาให้การับรองหรือส่งเด็กไปรับการฝึกอบรม อายุเกิน 14 ปีแต่ยังไม่เกิน 17 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
            ด้วยเหตุนี้เพื่อขจัดปัญหาในกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดเกิดวันใดแน่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 จึงบัญญัติไว้ว่า "การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใดให้นับอายุของบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด"  ดังนั้นจึงประกอบด้วย 2 กรณีคือ
            1) ไม่ทราบวันเกิดแต่ทราบเดือนและปีเกิด กฎหมายให้กำหนดนับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด เช่น ทราบแต่ว่าเกิดเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 ไม่ทราบว่าเกิดวันที่เท่าใด กฎหมายให้เกิดวันที่ 1 กันยายน 2520 เป็นต้น
            2) ไม่ทราบวันและเดือนเกิด แต่ทราบปีที่เกิด กฎหมายให้ถือว่าเกิดวันต้นปีปฏิทินของปีที่เกิด เช่น ทราบเพียงว่าเกิด พ.ศ. 2530 กฎหมายให้ถือว่าเกิดในวันที่ 1 มกราคม 2530
            การสิ้นสภาพบุคคล
            ปกติสภาพบุคคลย่อมสิ้นสุดลงขณะที่คน ๆ นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การตายมีได้ 2 กรณีคือ
         1. การสิ้นสภาพบุคคลด้วยการตายตามธรรมชาติ และ
         2. การสิ้นสภาพบุคคลด้วยการตายโดยผลของกฎหมาย
          เมื่อสิ้นสภาพบุคคลแล้วย่อมหมดสภาพบุคคลหมดสิทธิและหน้าที่ ทรัพย์สินของผู้ตาย ย่อมกลายเป็นมรดกตก ทอดไปสู่ทายาทตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรม โทษทางอาญาต่าง ๆ เป็นระงับไปด้วย
         การสิ้นสภาพบุคคลด้วยการตายตามธรรมชาติ
         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย" สภาพการตายของบุคคลนั้น ถือตามวิธีทางการแพทย์ คือ การหยุดหายใจ แต่ถ้าแพทย์ยังมีเครื่องมือช่วยหายใจและปั้มหายใจ ยังไม่ถือว่าตาย
          การจะทราบวันตายของบุคคล เราอาจไปขอดูจากสำนักทะเบียนราษฎร์แห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เจ้าของบ้านที่มีการตายเกิดขึ้นเป็นผู้แจ้งการตายภายใน 24 ชั่วโมงนับจากเวลาตาย หรือหากเป็นกรณีคนตายนอกบ้านก็เป็นหน้าที่ของบุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพที่จะต้องแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงนับจากเวลาตายหรือเวลาพบศพ เว้นแต่จะมีการขยายเวลาออกไปเป็นพิเศษเพราะเป็นท้องที่ที่การคมนาคมไม่สะดวก แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง
           ถ้าบุคคลหลายคนถึงแก่ความตายพร้อมกันในภยันตรายร่วมกัน และเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนถึงแก่ชีวิตก่อนหลัง กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตายพร้อมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 17 ที่บัญญัติว่า "ในกรณีบุคคลหลายคนตายในภยัน ตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลังให้ถือว่าตายพร้อมกัน"
          ตัวอย่างเช่น นายดำ นายแดง นายเขียว โดยสารรถทัวร์เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด ระหว่างที่รถทัวร์แล่นด้วยความเร็วนั้นเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำลงไปในหุบเหว กว่าจะมีผู้ลงไปช่วยเหลือที่ก้นหุบเหวได้ผู้โดยสารตายหมดแล้ว โดยไม่ทราบว่าใครตายก่อนหรือหลังใคร การที่นายดำ นายแดง นายเขียวตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน และเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนถึงแก่ความตายก่อนหลัง ดังนั้นกฎหมายจึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายดำ นายแดง และนายเขียวตายพร้อมกัน
            การสิ้นภาพบุคคลด้วยการตายโดยผลของกฎหมาย (สาบสูญ)
           การสิ้นสภาพบุคคลโดยทางกฎหมาย คือ การสาบสูญ ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลหายไปจากภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่โดยไม่ส่งข่าวคราวและไม่มีผู้ใดพบเห็นเลยครบระยะที่กฎหมายกำหนดไว้และศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ  ซึ่งกฎหมายถือว่าถึงแก่ความตาย ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วเขาอาจยังไม่ตายก็ได้
           หลักเกณฑ์การเป็นคนสาบสูญ
             บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 วรรคแรกบัญญัติว่า "ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำ เนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้"
            ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือสองปี
           1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
         2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป
           3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิต นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น"
           ดังนั้นการจะเป็นบุคคลสาบสูญตามกฎหมายจะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
           1) ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชี วิตอยู่หรือไม่เป็นเวลาติดต่อกันถึง 5 ปีในกรณีธรรมดา หรือเป็นเวลา 2 ปีในกรณีพิเศษดังต่อไปนี้ 
            ก. นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบ หรือ สง ครามดังกล่าว
            ข. นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป
            ค. นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิต นอกจากที่ระบุไว้ใน (ก) หรือ (ข) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น"
            2) เมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องขอต่อศาลหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล
          3) ศาลได้ไต่สวนและมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นผู้สาบสูญ
             เมื่อศาลได้รับคำร้องขอให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ศาลก็จะดำเนินการไต่สวนด้วยความระมัดระวัง และเมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ก็จะต้องโฆษณาคำสั่งแสดงการสาบสูญของศาลในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้บุคคลภายนอกรู้ว่าผู้นั้นเป็นคนสาบสูญ
             กรณีการสาบสูญดังกล่าวแล้วให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และให้ถือวันสาบสูญตั้งแต่วันครบกำหนดการสาบสูญ ไม่ใช่วันที่ศาลสั่งหรือประกาศในราชกิจจานุเบกษา เช่น แดงหายไปจากบ้านติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2536 บิดาของนายแดงขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญ และศาลได้เมีคำสั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญในวันที่ 26 สิงหาคม 2536 เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วให้ถือว่านายแดงสาบสูญหรือตายในวันที่ 26 สิงหาคม 2536 เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วให้ถือว่าแดงตายตั้งแต่วันที่ครบ 5 ปี คือวันที่ 1 มกราคม 2535 ไม่ใช่วันร้องขอต่อศาล
            การถอนการสาบสูญ
            เนื่องจากบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ กฎหมายถือว่าถึงแก่ความตาย แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎ หมายเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ตายจริงก็ได้ เมื่อศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญไปแล้ว ต่อมาผู้นั้นอาจกลับมายังภูมิลำเนาของตัวเอง หรือปรากฏตัวแน่ชัดว่ายังไม่ตาย กฎหมายก็ให้โอกาสร้องขอต่อศาลถอนคำสั่งที่แสดงการสาบสูญก็ได้ ซึ่งบุคคลนั้นก็จะกลับมามีสิทธิในทรัพย์สินของตนเช่นเดิม แต่ไม่กระทบกระเทือนในทรัพย์ที่ได้ถูกจำหน่ายจ่ายโอนไปโดยสุจริตระหว่างถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ เช่น นายแดงหายไปจากภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นอยู่ร้ายดีอย่างไรถึง 7 ปีเต็ม ต่อมานางขาวผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้นายแดงเป็นคนสาบสูญ ซึ่งกฎหมายถือว่านายแดงตาย ต่อมาอีก 1 ปี นายแดงซึ่งยังไม่ตายได้กลับมาภูมิลำเนาเดิมของเขา เขามีสิทธิร้องต่อศาลว่าเขายังไม่ได้สาบสูญไปไหน เขายังมีสิทธิในทรัพย์ของเขาอยู่
            แต่ถ้าในระหว่างที่เขาถูกศาลสั่งให้สาบสูญนั้น นางขาวได้จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ของเขาโดยสุจริตอย่างไร นายแดงจะฟ้องคัดค้านหรือเรียกร้องอย่างไรไม่ได้ เหลือทรัพย์เท่าใดก็ให้เหลือเท่านั้น
            ภูมิลำเนา
            ภูมิลำเนาคือที่อยู่ตามกฎหมายของบุคคล เพื่อให้รู้แหล่งที่ใช้ติดต่อกับผู้นั้นได้ โดยกฎหมายถือว่าเป็นที่อยู่ของบุคคลนั้นเสมอไป หรือถือว่าเป็นที่อยู่แหล่งสำคัญของผู้นั้น แม้ผู้นั้นจะไปอยู่ที่อื่นชั่วคราวก็ตาม เช่นเดินทางไปต่างประเทศเพื่อติดต่อธุรกิจเป็นเวลานาน ๆ ก็ไม่ทำให้ภูมิลำเนาเดิมของบุคคลนั้นหายไป
            ประโยชน์ของภูมิลำเนา
            การทราบถึงภูมิลำเนาของบุคคลให้ประโยชน์หลายอย่าง นอกจากประโยชน์ในการติด ต่อทั่วๆไปแล้ว ยังมีประโยชน์ในการทวงและชำระหนี้ การจัดเก็บภาษีอากร ตลอดจนการฟ้องคดีต่อศาลในทางกฎหมาย ดังนี้
            1) ประโยชน์ในการฟ้องร้องต่อศาลในคดีแพ่ง  ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 บัญญัติว่า ในการเสนอคำฟ้องและคำร้องขอ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น คำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำร้องให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลหรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล คำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือ คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะที่ถึงแก่ความตาย
            2) สิทธิในทางการเมืองถ้าบุคคลไม่มีภูมิลำเนาก็จะไม่มีสิทธิในทางการ เมือง ทั้งเป็นผู้เลือกตั้งและรับเลือกตั้ง
            3) ในเรื่องการชำระหนี้ กฎหมายกำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ ณ สถาน ที่อยู่ซึ่งเป็นภูมิ ลำเนาของเจ้าหนี้ ถ้าบุคคลไม่มีภูมิลำเนาก็ไม่รู้จะอาศัยเป็นแหล่งในการชำระหนี้
            4) การสาบสูญ บุคคลใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญจะต้องเป็นผู้ที่ต้องจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
            การกำหนดภูมิลำเนา
            กฎหมายได้กำหนดภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไปไว้ดังนี้
            1) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 บัญญัติว่า "ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ ถิ่นอัมบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งสำคัญ"  แสดงว่าการจะเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายต้องประกอบด้วยหลัก 2 ประการ คือ
             (1) เป็นสถานที่อยู่ของบุคคล คือสถานที่ซึ่งบุคคลอาศัยกินอยู่หลับนอนตามความต้องการธรรมดาของมุนษย์ อาจเป็นบ้าน ตึกแแถว หรือกระท่อมก็ได้
             (2) ที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญ คือสถานที่ซึ่งบุคคลตั้งใจจะอยู่เป็นหลักแหล่งตลอดไปหรือมีลักษณะถาวรไม่ใช่ที่พักอาศัยชั่วคราวหรือเพื่อทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
           2) ถ้าบุคคลมีที่อยู่หลายแห่งหลายที่ โดยอยู่อย่างเป็นปกติ สับเปลี่ยนไป ก็ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งดังกล่าวว่าเป็นภูมิลำเนา (มาตรา 38)
          3) ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือเอาถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา คำว่าถิ่นที่อยู่หมายความว่าที่อยู่ที่ใดก็ได้ เคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ จะเป็นเรือหรือโดยย้ายปลูกเพิงหรืออยู่ตามใต้ถุนวัด ใต้สะพาน ก็ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนา (มาตรา 39)
          4) ถ้าบุคคลมีถิ่นหลาย ๆ แห่ง สำคัญพอ ๆ กัน เช่น นายสอนมีบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯไปทำการค้าที่เชียงใหม่ 3 เดือน แล้วไปทำเหมืองแร่ที่ภูเก็ต 4 เดือน ทั้ง 3 แห่งเป็นภูมิลำเนาของนายสอน
          บุคคลที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนาให้
          บุคคลธรรมดาทั่วไปสามารถเลือกภูมิลำเนา อันได้แก่ถิ่นที่อยู่ที่เป็นแหล่งสำคัญของตนได้ตามใจสมัคร แต่มีบุค คลบางประเภทที่กฎหมายกำหนดภูมิลำเนาไว้ให้โดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกและตัดข้อยุ่งยากในการหาภูมิลำเนาของบุคคลเหล่านี้ ได้แก่
           1) สามีภรรยา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 43 บัญญัติไว้ว่า "ภูมิลำเนาของสามีและภรรยา ได้แก่ ถิ่นที่อยู่ที่สามีและภรรยาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา เว้นแต่สามีหรือภรรยาได้แสดงเจตนาให้ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาแยกแตกห่างจากกัน" เพราะกฎหมายต้องการให้สามีและภรรยาที่จดทะ เบียนถูกต้องตามกฎหมายและอยู่กินด้วยกันมีภูมิลำเนาแห่งเดียวกัน
           2) ผู้เยาว์ คือบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 44 กำหนดว่า "ภูมิลำเนาของผุ้เยาว์ได้แก่ ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้เยาว์อยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ถ้าบิดาและมารดามีภูมิลำเนาแยกต่างหากจากกันจากกัน ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ได้แก่ ภูมิลำเนาของบิดาหรือมารดาที่ตนอยู่ด้วย"
           3) บุคคลไร้ความสามารถ ให้ถือตามภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมและภูมิลำเนาของผู้อนุบาล (มาตรา 29)
          4) ข้าราชการ กฎหมายกำหนดให้ถือที่ทำการในตำแหน่งหน้าที่ประจำเป็นภูมิลำเนา แต่ไม่ ใช่แต่งตั้งให้ปฏิบัติงานชั่วคราวซึ่งถือเป็นภูมิลำเนาไม่ได้
           5) ผู้ที่ถูกจำคุก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 บัญญัติว่า"ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว 
           ความสามารถ
           ความสามารถ คือ สภาพและอำนาจของบุคคลที่จะใช้สิทธิของตนได้ตามกฎหมายเพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ตัวผู้มีสิทธิเองและเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก แต่ความสามารถในการที่จะใช้สิทธิของตนตามกฎหมายนั้นก็ถูกจำกัดอยู่ในแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีความสามารถไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้แต่ละคนที่มีความสามารถด้อยกว่าต้องเสียเปรียบผู้ที่มีความสามารถมากกว่า บุคคลที่ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิ ได้แก่ บุคคลที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบ หรือมีความรู้สึกผิดชอบไม่เต็มที่ และไม่สามารถใช้สิทธิปฏิบัติหน้าที่ของตนได้โดยลำพัง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้จำกัดความสามารถของบุคคลต่อไปนี้ คือ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต ไว้ดังนี้คือ
          ผู้เยาว์
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุคคลจะมีความสามารถในการใช้สิทธิได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นบรรลุนิติภาวะ ซึ่งบุคคลจะบรรลุนิติภาวะได้ใน 2 กรณีด้วยกัน คือ
          1) โดยอายุ เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 19 หรือ
          2) โดยการสมรส ตามมาตรา 20 เมื่อการสมรสนั้นทำตามมาตรา 1448 คือทั้งชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือชายหญิงมีอายุน้อยกว่า 17 ปีบริบูรณ์ เมื่อการสมรสนั้นทำโดยได้รับอนุญาตจากศาล ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ทั้ง 2 นี้การสมรสของผู้เยาว์ยังคงต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตามหลักทั่วไป ในฐานะที่การสมรสเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง
          การทำนิติกรรมของผู้เยาว์
          ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อันหมายถึงผู้ที่ยังมีอายุไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ และดังได้กล่าวแล้วว่า ผู้เยาว์เป็นผู้ที่ถูกจำกัดความสามารถตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อผู้เยาว์ประสงค์จะผูกพันตนเองกับผู้อื่นในเรื่องใด ๆ ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 ที่ว่า "ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ"
          โมฆียะ หมายถึงว่า นิติกรรมใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้กระทำลงไปนั้นแม้จะมีผลผูกพันอยู่แต่อาจถูกบอกล้างโดยผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้แทนโดยชอบธรรมได้ และเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างแล้วนิติกรรมนั้นก็ตกเป็นโมฆะคือใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่ถ้าผู้แทนให้ความยินยอมในนิติกรรมนั้น(คือให้สัตยาบัน) นิติกรรมนั้นก็มีผลสมบูรณ์ตลอดไป
            ผู้แทนโดยชอบธรรมได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
            1) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งได้แก่บิดามารดา
             2) ผู้ปกครองโดยศาลตั้ง ซึ่งอาจไม่ใช่บิดามารดาก็ได้ ในกรณีนี้จะกระทำได้ก็โดยที่บิดามารดาของผู้เยาว์ไม่อยู่ในฐานะจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ได้เท่านั้น
            นิติกรรมใดบ้างที่ผู้เยาว์ทำเองได้
            โดยปกติแล้ว ผู้เยาว์ทำนิติกรรมด้วยตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมเป็นโมฆียะ แต่ก็มีบางชนิดที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุที่ได้ประโยชน์หรือไม่เสียหายและเสียเปรียบในนิติกรรมนั้น  ตลอดจนไม่มีใครจะทำแทนได้ดีกว่าตัวของผู้เยาว์เอง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอผู้แทนโดยชอบธรรมยินยอม มีอยู่ 5 ประการ คือ
            1.นิติกรรมที่ต้องทำเองเป็นการเฉพาะตัว นิติกรรมบางอย่างที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเป็นการเฉพาะตัว จะให้ผู้อื่นทำแทนตนคงไม่ได้ โดยต้องอาศัยความสมัครใจของตนเอง เช่น ผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยสมัครเข้าเรียนหนังสือเป็นต้น
             2.นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว  นิติกรรมประเภทนี้ผู้เยาว์สามารถทำได้เอง  โดยมิต้องให้ผู้ แทนโดยชอบธรรมยินยอม เพราะผู้เยาว์ไม่มีทางเสียเปรียบ เช่น การรับการให้โดยเสน่หา เจ้าหนี้ยกหนี้ให้โดยไม่มีเงื่อนไข
             3. นิติกรรมที่สมฐานานุรูปแห่งตน  นิติกรรมประเภทนี้ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องรอความยินยอมจาก ผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าผู้เยาว์ทำนิติกรรมเพียงพอแก่ความสามารถหรือสมฐานานุรูป ของตน เช่น เด็กชายชัยซื้อรถจักรยานสองล้อปั่นไปโรงเรียน การซื้อเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเรือน หรือแม้การเช่าหอพักอยู่ก็ถือว่าสมฐานานุรูปแห่งตน
             4. การทำนิติกรรมเมื่ออายุครบ 15 ปี เนื่องจากพินัยกรรมนั้นผู้ทำสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้เยาว์ทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปี ถ้าผู้เยาว์เปลี่ยนแปลงเมื่อใดอย่างไรก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้นการทำพินัยกรรมต้องอาศัยเจตนาหากจะต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็จะขัดกับหลักเจตนาไป
             5. ผู้เยาว์ประกอบกิจการค้าหรือจำหน่ายทรัพย์สินของผู้เยาว์  ผู้เยาว์จะทำการค้าด้วยตนเองไม่ได้ ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมไม่อนุญาตหรือยินยอม แต่ก็มีข้อยกเว้นตามกฎหมายว่า ผู้เยาว์สามารถประกอบกิจการค้าได้ดังนี้
            - ถ้าผู้เยาว์ได้จำหน่ายทรัพย์สินหรือทำการค้าโดยรายหนึ่งหรือหลายราย ซึ่งเกี่ยวพันกับการค้านั้น ผู้เยาว์ย่อมมีฐานะเหมือนบุคคลบรรลุนิติภาวะทำการค้าขายประเภทสินค้าเดียวกันก็ย่อมทำได้ เช่น ผู้เยาว์ได้รับความยินยอมให้ตั้งร้านขายข้าวสาร จะเปิดร้านขายข้าวสารอีกก็ได้
            - ถ้าศาลโดยคำร้องขอของผู้เยาว์เพราะเห็นว่าจะไม่ทำให้ผู้เยาว์ต้องเสียเปรียบ ผู้เยาว์สามารถทำการค้าได้
            คนไร้ความสามารถ
            คือคนที่ไม่มีความสามารถหรือหย่อนความสามารถทางด้านสมองและจิตใจไม่ปกติ จิตวิปริต สมองพิการ หรือคนบ้า ซึ่งคนวิกลจริตหรือคนบ้าที่ถือว่าเป็นคนไร้ความสามารถนี้แยกได้เป็น 2 ประเภท คือ
            1. คนบ้าหรือคนวิกลจริตที่ศาลสั่งแล้ว เรียกว่าคนไร้ความสามารถ
            2. คนบ้าหรือคนวิกลจริตหรือจิตวิปริตที่ศาลยังไม่สั่ง เรียกว่าคนวิกลจริตธรรมดา
            หลักเกณฑ์ที่จะถือว่าเป็นคนไร้ความสามารถ มี 2 ประการคือ
            ก. วิกลจริต
            ข. มีคำสั่งศาลให้เป็นคนไร้ความสามารถ โดยคำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            คนวิกลจริตที่ศาลสั่งแล้ว
            คำว่า วิกลจริต นั้น นอกจากพวกจิตไม่ปกติหรือคนบ้าแล้ว ยังหมายถึงคนที่มีกิริยาอาการไม่ปกติ ขาดความสำนึก ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก ขาดความรับผิดชอบชั่วดี จนไม่สามารถประกอบกิจการงานอย่างปกติได้ เช่น เป็นอัมพาต พูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน ตาบอด 2 ข้าง ไม่มีสติสัมปชัญญะถึงขนาดไร้ความสามารถในการประกอบกิจการงาน ก็ถือว่าเป็นคนวิกลจริตแล้ว แต่อาการดังกล่าวต้องเป็นอยู่อย่างประจำ ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นคนวิกลจริต
            คนวิกลจริตดังได้กล่าวมาแล้วจะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น โดย ปกติจะต้องมีผู้ที่ร้องขอต่อศาล ดังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 บัญญัติไว้ว่า "บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าสามีภรรยาก็ดี ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ทวด ก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ ก็ดี ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็น คนไร้ความสามารถก็ได้"
            ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถ
            บุคคลใดเมื่อถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วก็จะถูกจำกัดสิทธิบางอย่างหรือไม่สามารถจะจัดการทรัพย์ สินของตนได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะขอกล่าวถึงกรณีที่ถูกจำกัดสิทธิ 2 ประการ
            ก. ผู้ไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล ต้องอยู่ในความดูแลของบุคคลอื่นที่เรียกว่า ผู้อนุบาล  ซึ่งอาจเป็นบิดา มาร ดา สามีหรือภรรยา ของคนไร้ความสามารถหรือบุคคลตามที่ศาลสั่งให้เป็นผู้อนุบาล
            ข. การใด ๆ อันบุคคลผู้ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำลง การนั้นท่านว่าเป็นโมฆียะ (มาตรา 29)
            บุคคลวิกลจริตที่ศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
            ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 บัญญัติว่า "การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตได้ทำลง แต่หากบุคคลนั้นศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถไซร้ ท่านว่าการนั้นจะเป็นโมฆียะ ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าได้ทำลงในเวลาซึ่งบุคคลนั้นวิกลจริตอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้ทำเป็นคนวิกลจริต"
            พิจารณาตามมาตรา 32 นี้แล้ว จะเห็นว่านิติกรรมที่คนวิกลจริตได้ทำลงจะเป็นโมฆียะได้ด้วย 2 กรณี คือ
            ก. นิติกรรมนั้นได้ทำลงในขณะผู้นั้นวิกลจริต
            ข. คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้ว่าผู้ทำนิติกรรมด้วยเป็นคนวิกลจริต
            การถอนคำสั่งที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
            ภายหลังที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว บุคคลนั้นอาจจะหายจากการที่เป็นคนวิกลจริต และกลับกลายเป็นคนปกติอีกก็ได้ เมื่อเป็นดังนี้เขาจะสิ้นสุดการเป็นคนไร้ความสามารถก็ต่อเมื่อประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
            ก. เหตุอันทำให้ความสามารถนั้นสิ้นสุดลงแล้ว เช่น รักษาหายแล้ว
            ข. ตัวเขาเองหรือบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 หรือผู้อนุบาล อัยการ ร้องขอต่อศาลขอให้ถอนคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และ
            ค.ศาลไต่สวนและถอนคำสั่งเดิม(คำสั่งศาลต้องโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา)
            คนเสมือนไร้ความสามารถ
            คนเสมือนไร้ความสามารถต่างจากคนวิกลจริต เพราะคนเสมือนไร้ความสามารถเพียงแต่เสมือน  แต่ยังไม่ได้ไร้ความสามารถ ดังบทบัญญัติมาตรา 34 ว่า " บุคคลใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ เพราะกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบก็ดี เพราะความประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณก็ดี เพราะเป็นคนติดสุรายาเมาก็ดี เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดดั่งระบุไว้ในมาตรา 29 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความพิทักษ์ได้ คำสั่งศาลนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา"
           จากตัวบทกฎหมายจะเห็นได้ว่าบุคคลจะถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้นั้นจะต้องเข้าเกณฑ์ดังนี้
           1) ต้องมีเหตุบกพร่อง
           2) ไม่สามารถจัดทำการงานได้เพราะเหตุบกพร่องนั้น
           3) ได้มีคำสั่งศาลให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว
           เหตุบกพร่องจนถึงทำให้ถูกร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น มี 4 ประการ คือ
            - ร่างกายพิการ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้
            - จิตฟั่นเฟือน หลง ๆ ลืม ๆ  เป็นโรคจิตเลอะเลือน
            -สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยเป็นอาจิณ หรือใช้จ่ายเกินตัวโดยเปล่าประโยชน์
            - เป็นคนติดสุรายาเมาเป็นอาจิณ หรือเสพของมึนเมาอยู่เสมอ
            ไม่สามารถจัดทำการงานได้เพราะเหตุบกพร่องนั้น หมายความว่าไม่สามารถทำกิจ การงานได้ ๆ ได้เลย
             มีคำสั่งของศาลให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยโฆษณาลงในราชกิจจานุเบกษา
            ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
            โดยหลักแล้วคนเสมือนไร้ความสามารถ สามารถทำนิติกรรมได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่มีข้อยกเว้นสำ    หรับผู้เสมือนไร้ความสามารถจะทำนิติกรรมได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เสียก่อน นิติกรรมนั้นก็คือสิ่งที่กล่าวต่อไปนี้
            1.รับหรือใช้เงินทุน คือ เมื่อมีผู้นำเงินมาใช้หรือให้ทำทุนจะรับไว้ไม่ได้ เพราะอาจจะออกใบรับเดินจำนวนเงินที่ได้รับ และนำทุนรอนที่ทำการค้าไปใช้ไม่ได้ ถ้าจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เสียก่อน
            2.ทำสัญญากู้ยืมหรือรับประกัน คือ คนเสมือนไร้ความสามารถจะค้ำประกันหรือกู้ยืมเงินผู้อื่นโดยผู้พิทักษ์ไม่ยินยอมย่อมเป็นโมฆียะ
            3.ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะปล่อยไปหรือได้มาซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์อันมีค่า การได้มาซึ่งสิทธิบางครั้งทำให้เกิดหนี้และต้องตอบแทน ดังนั้น ผู้เสมือนไร้ความสามารถทำเองก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เสียก่อน
            4.ทำการใดที่เกี่ยวด้วยคดีในโรงศาล เว้นแต่จะขอถอนผู้พิทักษ์เท่านั้น การร้องขอถอนผู้พิทักษ์ถ้าจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เสียก่อนผู้พิทักษ์ก็อาจไม่ยอมก็ได้ ดังนั้น กรณีถอนผู้พิทักษ์จึงทำได้ด้วยตนเอง
            5.ให้โดยเสน่หาหรือประนีประนอมยอมความ หรือทำความตกลงให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาคดี อนุญาโตตุลา การคือ คนกลางที่เราตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาข้อพิพาทที่ขัดแย้งระหว่างคู่กรณีด้วยกัน
            6.รับหรือบอกสละความเป็นทายาท การเป็นทายาททำให้ได้รับประโยชน์บางอย่างก็จริงอยู่ แต่บางครั้งการเป็นทายาทก็ไม่ได้อะไรเลย มิหนำซ้ำยังอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการกับกองมรดกซึ่งเสมือนคนไร้ความสามารถก็ทำเองไม่ได้ ต้องเดือดร้อนถึงผู้พิทักษ์ กฎหมายจึงห้ามไว้ก่อน เพื่อตัดปัญหาเรื่องดังกล่าวแล้ว
           7.บอกปัดไม่รับเมื่อเขาให้โดยเสน่หา หรือไม่รับส่วนทรัพย์มรดก หรือรับเอาทรัพย์เขาให้หรือทรัพย์มรดกอันมีค่าภาระติดพัน เนื่องจากการรับให้โดยเสน่หาถือว่าไม่มีภาระผูกพันใด ๆ จึงไม่มีการเสียหาย ดังนั้น จึงห้ามคนเสมือนไร้ความสามารถบอกปัดไม่รับ และถ้าการรับทรัพย์ที่เขาให้หรือทรัพย์ที่มีภารติดพันจึงควรห้ามไว้จนกว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ เพราะค่าภาระติดพันอาจจะมากกว่าทรัพย์มรดกก็ได้
            8.ก่อสร้าง ปลูกสร้าง ซ่อม แปลง หรือขยายโรงเรือนให้ใหญ่ขึ้น หรือทำการซ่อมแซมอย่างใหญ่ เนื่องจากการดังกล่าวต้องใช้จ่ายเงินทองมาก จึงควรได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์
            9.เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์นานกว่า 6 เดือน หรือถ้าเป็นอสังหาริม ทรัพย์นานกว่า 3 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ แต่ถ้าอายุการเช่าน้อยกว่าที่กล่าวมาแล้วก็สามารถนำทรัพย์ออกให้เช่าได้โดยลำพังตนเอง
            เนื่องจากคนเสมือนไร้ความสามารถเป็นผู้ไม่สมประกอบทางความคิด ทางสติสัมปชัญญะ ดังนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 35 บัญญัติไว้ว่า "อนึ่ง ในพฤติการณ์อันสมควร ศาลจะสั่งว่าบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน เพื่อทำการอื่นใดนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ได้" จะเห็นว่ากฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้เสมือนไร้ความสามารถทุกอย่างที่ผู้เสมือนไร้ความสามารถอาจจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลอื่นที่มีจิตปกติดีกว่านั่นเอง
            ความสิ้นสุดของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
            การที่บุคคลจะเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นจะต้องมีคำสั่งของศาลสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสา มารถ เพื่อจะให้คนเสมือนไร้ความสามารถกลับกลายมาเป็นคนมีความสามารถ หรือจะให้การเสมือนไร้ความสามารถสิ้นสุดลง มีหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ
            ก. การตาย หมายความว่า คนเสมือนไร้ความสามารถตายลง
            ข. ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถมีอาการวิกลจริตหนักขึ้นจนถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ   คือจำ กัดความสามารถยิ่งขึ้น
            ค. อาการบกพร่องต่าง ๆ กลับกลายเป็นคนดีขึ้นจนประกอบกิจการงานของตนได้ดีขึ้น ก็อาจร้องขอต่อศาลให้ถอนคำสั่งที่สั่งให้ตนเป็นคนไร้ความสามารถนั้นกลับมาเป็นบุคคลปกติได้ คำสั่งของศาลต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          หญิงมีสามีและการจัดการทรัพย์สินระหว่างกัน
          เดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดสิทธิบางอย่างของหญิงมีสามีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินเอาไว้ แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยกเลิกการจำกัดอำนาจของหญิงมีสามีแล้ว
          สำหรับในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดทรัพย์สินไว้ 2 ประเภท
            ก. สินส่วนตัว  หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นส่วนตัวของผู้นั้น ซึ่งผู้อื่นไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้มีกรรมสิทธิ์ย่อมนำไปจำหน่ายจ่ายโอนได้โดยลำพังตนเอง ซึ่งได้สิ่งดังต่อไปนี้
            - เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องมือประกอบอาชีพของตนเอง หรือเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายที่ควรแก่ฐานานุรูป
            - ทรัพย์สินที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอยู่แล้วก่อนสมรส
            - ทรัพย์ที่ได้มาระหว่างการสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา
            -ทรัพย์ที่เป็นของหมั้น
            ข. สินสมรส ได้แก่ทรัพย์สินดังต่อไปนี้
\           - ทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างการสมรส
            -ทรัพย์ที่ฝ่ายหกนึ่งฝ่ายใดได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้และระบุว่าให้เป็นสินสมรส
            -ทรัพย์ที่เป็นดอกผล
นิติบุคคล
            นิติบุคคลก็คือ สิ่งที่กฎหมายกำหนดหรือยอมรับให้มีสภาพเป็นบุคคล ทั้ง ๆ ที่นิติบุคลไม่ใช่มนุษย์ ไม่มีร่างกาย ไม่มีจิตใจ แต่มีสิทธิหน้าที่อย่างบุคคล เช่น ถือกรรมสิทธิ์ได้ เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ได้ นิติบุคคลอาจมีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามกฎหมายอื่น
            รายละเอียดอ่านใตบทต่อไป