หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

วัตถุประสงค์


           สำนักงาน ชวลิต ณ นคร ทนายความ จัดทำ “Phuket Law Online” ด้วยตระหนักในความจริงที่ว่า
          แม้สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในเบื้องต้นทุกคนก็ควรมี โอกาสได้เข้าถึงข้อมูลทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ดังวาทะที่ว่า ความยุติธรรมไม่อาจยุติธรรมเฉพาะกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ แต่จะต้องยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายก็ตาม
          แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลทางกฎหมายมักถูกจำกัดอยู่เพียงในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น กฎหมายจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงและใช้ความจัดเจนในแง่มุมของกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการดำรงสถานภาพและเพื่อแสวงหาหรือรักษาผลประโยชน์ของตน
          ในขณะเดียวกันยังมีผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้จำนวนมากที่ไม่มี โอกาสได้เข้าถึงข้อมูลทางกฎหมาย เพราะการสืบค้นข้อมูล การขอรับคำแนะนำด้านกฎหมายจากนักกฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
          นอกจากนี้ในการเข้าสู่ “กระบวนการยุติธรรม” เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเอง ทุกขั้นตอนล้วนมีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีความในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ไม่ว่า เงินประกันตัว ค่าธรรมเนียมศาลและ ค่าทนายความ
          ดังนั้นผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ที่แม้ไม่ได้กระทำความผิด ก็อาจต้องติดคุก บางคนก็ไปกู้ยืมเงินมาต่อสู้คดีจนกลายเป็นหนี้สิน ในขณะที่บางคนไม่มีเงินมาประกันตัวก็จะต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีชั้นศาล
          ภาระเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย และเมื่อมี “ความเหลื่อมล้ำใน โอกาสที่จะ เข้าถึงข้อมูลทางด้านกฎหมาย ในเบื้องต้นเช่นนี้ จึงมิพักต้องพูดถึง โอกาสของการ ได้รับความยุติธรรม ในบั้นปลาย
          ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สำนักงานฯ จึงได้จัดทำ “Phuket Law Online” ขึ้นเพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลทางกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่จะให้ทุกคนได้สืบค้นและเข้าถึงข้อมูลทางกฎหมาย ตลอดจนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดทางกฎหมาย
          นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนโดยให้บริการถาม ตอบปัญหากฎหมายทางออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย        
         เราหวังว่า “Phuket Law Online” จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วย “แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ”ในการ “เข้าถึงข้อมูลทางกฎหมาย” ได้บ้างในระดับหนึ่ง และเราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และทุกขบวนการประชาสังคม เพื่อก้าวไปสู่ “การมีสิทธิและความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม” อย่างแท้จริงต่อไป.