1. มนุษย์ สังคมและกฎหมาย
อริสโตเติ้ล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีกกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม”
(Social Animal) ซึ่งเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังขึ้นไปก็ต้องยอมรับว่าเป็นความจริง
เพราะไม่ปรากฏว่ามี มนุษย์ผู้ใดที่อยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวลำพัง จะพบว่ามีแต่มนุษย์ที่อาศัยรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะไม่มากก็น้อย
การที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะ
ก็เพราะเมื่อเทียบมนุษย์กับสัตว์ป่าและอำนาจต่าง ๆ ของธรรมชาติแล้ว
ต้องกล่าวว่ามนุษย์มีกำลังน้อย เมื่อวัยเยาก็ต้องอาศัยการปรนนิบัติและการคุ้ม ครองของผู้อื่นเป็นนิตย์
เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังต้องอาศัยบุคคลอื่นในการช่วยเหลือป้องกันภัยจากการรุกราน
จากภยันตรายภายนอก
ซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกสังคม เช่น
การปล้น ฆ่า ทารุณ แย่งที่ทำกิน นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในสังคม
ในอันที่ขจัดภัยที่เกิดขึ้นจากบุคคลในสังคมเดียวกันด้วย ที่กล่าวมานี้เป็นวัตถุประสงค์หนึ่งในการที่บุคคลรวมตัวกันเป็นสังคม
ก่อนที่จะมีกฎหมายที่บัญญัติขึ้นอย่างในปัจจุบัน
สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็คือ
ขนบธรรมเนียม ประเพณี จารีตประเพณี
โดยในระยะแรกสมาชิกในชุมชนหรือสังคมจะยังไม่เข้าใจเหตุผลหรือสิ่งที่แอบแฝงอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นโดยละเอียดลึกซึ้งแต่อย่างใด
แต่เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่ถูกสิ่งที่ควรยึดถือปฏิบัติ ต่อมาเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในหมู่ชนบุคคลที่เป็นหัวหน้าชุมชนก็จะนำเอาจารีตประเพณีที่ได้รับการยอมรับและถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ความถูกต้องมาเป็นหลักชี้ขาดตัดสินว่าสมาชิกในสังคมหรือชุมชนใดจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด
และในขณะเดียวกันก็ได้มีการปรุงแต่งคิดค้นกฎเกณฑ์ข้อบังคับนั้นให้มีความเหมาะสมตลอดจนนำเหตุผลธรรมดาสามัญไปจนถึงเหตุผลที่สลับซับซ้อนเข้ามามีส่วนในช่วยขัดเกลาให้เป็นกฎเกณฑ์ที่ยอมรับกันทั่วไป
ตรงนี้เอ เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบ
ความอยู่ดีกินดี และความเป็นปึกแผ่นของคนในรัฐหรือประเทศนั้นให้ดำรงอยู่ตลอดไป
ดังนั้นจึงอาจกล่าวว่า “กฎหมายคือปรากฏการณ์ทางชุมชน”
ซึ่งหมายถึงชุมชนหรือกลุ่มชนที่รวมตัวกันเป็นสังคมหนึ่งนั่นเองที่เป็นผู้ทำให้เกิดกฎหมาย
อันตรงกันภาษิตลาตินที่ว่า “ Ubi Soioetas Ibi Jus” คือ “ที่ใดมีสังคมเกิดขึ้น
ที่นั่นย่อมมีกฎหมายเกิดขึ้นเช่นกัน”
เมื่อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราเช่นนี้
กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปควรรู้
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับไว้ให้บุคคลทุกคนต้องรู้กฎหมาย
แต่มีหลักกฎหมายอยู่ว่า “ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว”
ทั้งนี้เนื่องมาจากการใช้นโยบายว่า
บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบตามกฎหมายไม่ได้
หากให้มีการกล่าวอ้างดังกล่าวได้ การบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่บรรลุผล
เพราะทุกคนต่างก็จะอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายเพื่อไม่ต้องรับผิดได้
ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนไม่ต้องรับรู้กฎหมาย
เพราะรู้กฎหมายน้อยก็จะรับผิดน้อย (มานิตย์ จุมปา : ลักษณะของกฎหมาย ,ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย
สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
2. ความหมายของกฎหมาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตได้ให้ความหมายของกฎหมายไว้ว่าหมายถึงบทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศได้ตราขึ้นไว้เพื่อใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมืองและบังคับบุคคลในความ
สัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องรับโทษหรือถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งได้รับการสดุดีว่าเป็นพระบิดาของกฎหมายไทยได้ทรงอธิบายความหมายของกฎหมายไว้ว่า
“กฎหมายคือคำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย
เมื่อไม่ทำตามจะต้องถูกลงโทษ”
ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ (กฎหมายเบื้องต้นทางธุรกิจ) ให้ความเห็นว่า
กฎหมายในความหมายที่เข้าใจกันได้แก่กฎเกณฑ์ที่บังคับความประพฤติของผู้คนในสังคม
ซึ่งอาจเป็นคำสั่ง (Command) หรือ บรรทัดฐาน (norm) ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมเนียมปฏิบัติ จารีตประเพณี หรือที่บัญญัติชัดแจ้ง
โดยองค์กรที่มีอำนาจบัญญัติขึ้นสำหรับคนทั่วไป
และมีกระวนการบังคับใช้ให้เป็นไปตามนั้น
หากไม่ปฏิบัติตามอาจต้องได้รับโทษหรือเสียประโยชน์บางประการ
กล่าวโดยสรุป จากความเห็นของนักกฎหมายอาจกล่าวได้ว่า
กฎหมายคือสัญญาประชาคม (Socail Contract) ที่ผู้คนในสังคมตกลงทำสัญญากันว่าจะเคารพปฏิบัติตามกติกาทางสังคมที่สร้างขึ้น
3. ลักษณะของกฎหมาย
โดยทั่วไปกฎหมายจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. กฎหมายจะต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับของประเทศหรือของรัฐ หมายความว่า
กฎหมายมาจากคณะบุคคลหรือบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐออกคำสั่งหรือออกบทบัญญัติขึ้นมาบังคับใช้กับบุคคลในรัฐหรือบทบัญญัติที่ออกโดยใช้อำนาจทางนิติบัญญัติสร้างกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อบังคับใช้เป็นพระราช
บัญญัติ หรือฝ่ายนิติบัญญัติอาจมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายใช้เองได้ เช่น
พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงในยามที่ต้องการความเร่งด่วนตามควรแก่กรณี
2. กฎหมายใช้บังคับกับคนทุกคนที่อยู่ภายใต้การดูแลบังคับของรัฐนั้น กล่าวคือ
ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐ อย่างเช่น
อยู่ในเมืองไทยก็ต้องภายใต้บังคับของกฎหมายไทย ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด (ยกเว้นผู้มีเอกสิทธิทางการฑูต) และกฎหมายจะบังคับใช้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะในลักษณะของการเลือกที่รักมักที่ชังไม่ได้
นอกจากกฎหมายจะใช้บังคับกับคนทุกคนในรัฐแล้ว
ยังใช้บังคับได้ทุกหนทุกแห่งที่อยู่ในราชอาณาเขตด้วย
3. กฎหมายเป็นข้อบังคับหรือคำสั่งที่ใช้ได้เสมอไป กฎหมายเมื่อออกโดยบุคคลหรือโดยองค์กรที่มีอำนาจออกกฎหมายแล้ว
เมื่อยังมิได้ถูกลบล้างหรือยกเลิกไป กฎหมายนั้นก็ยังคงใช้บังคับได้ตลอดไป
ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวการณ์ใด หากไม่มีกฎหมายใหม่ออกมาลบล้างแล้วกฎหมายเก่าก็ยังคงใช้บังคับได้ตลอดไป
4. กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม หมายถึงการบังคับให้ทุกคนต้องทำตามที่กฎหมายบัญญัติ
ซึ่งอาจกำหนดให้ปฏิบัติตาม หรือ กำหนดให้ละเว้นไม่ให้กระทำเช่นนั้นก็ได้
กำหนดให้ปฏิบัติตาม เช่น ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ชายไทยอายุครบ 20
ปีบริบูรณ์ต้องเข้ารับการเกณฑ์เป็นทหารรับใช้ชาติ การกำหนดให้ละเว้น เช่น ห้ามทำร้ายร่างกายผู้อื่น
ห้ามลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น
5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ หมายถึง การที่กฎหมายจะต้องมีบทลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งของรัฐ
ซึ่งอาจมีสภาพบังคับทางแพ่ง เช่น การจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย
หรือสภาพบังคับทางอาญาซึ่งจะเป็นการกำหนดโทษเพื่อให้หลาบจำ
ดังจะกล่าวไปในเรื่องความรับผิดทางกฎหมาย
4. ประเภทของกฎหมาย
เมื่อพิจารณาตามเนื้อหาของกฎหมายแล้ว
กฎหมายสามารถแบ่งออกเป็น 3
ประเภทคือ
4.1กฎหมายระหว่างประเทศ
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือประเทศต่อประเทศ
หรือรัฐต่อพลเมืองของอีกรัฐหนึ่ง
4.2 กฎหมายมหาชน
เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับประชาชน
ในฐานะที่รัฐเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยรวมทั้งสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน
จึงต้องให้อำนาจรัฐกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม
รวมทั้งมีหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อสังคมอีกด้วย
กฎหมายในสาขากฎหมายมหาชนมีเช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
รวมทั้งพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่มีโทษทางอาญา
4.3
กฎหมายเอกชน
เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงสิทธิ หน้าที่และความเกี่ยวกันหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล
หรือเอกชนต่อเอกชนด้วยกันเอง ในฐานะที่ประชาชนแต่ละคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
เช่น การซื้อขายเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น
การกู้ยืมเงินก็เป็นเรื่องระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นหรือสังคมแต่อย่างใด
โดยปกติรัฐจะเปิดกว้างให้บุคคลในสังคมสามารถทำนิติกรรมก่อให้เกิดความผูกพันในทางกฎหมายได้อย่างเสรีและกว้างขวาง
โดยรัฐจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุด เว้นแต่นิติกรรมบางอย่างซึ่งเกี่ยว
กับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ เช่น การซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์
การจำนองอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งรัฐเพียงเข้าไปกำหนดแบบวิธีของการทำนิติกรรมเท่านั้น แต่ในบางกรณี
รัฐก็อาจเข้ามาก่อนิติสัมพันธ์กับเอกชนได้เหมือนกัน เช่น
การที่รัฐเข้ามาทำการซื้อสินค้ากับเอกชน
รัฐต้องลดฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองลงมาเท่ากับราษฏร
ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเอกชนเช่นกัน
กฎหมายเอกชนที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1) กฎหมายแพ่ง
เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่และความสัมพันธ์ของบุคคลนับแต่เกิดไปจนตาย
เช่น สถานะและความสามารถของบุคคล การทำนิติกรรม สัญญา สิทธิในทรัพย์สิน
ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการตกทอดทางมรดก
2) กฎหมายพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่บุคคลที่ประกอบธุรกิจ
เช่น การค้าขาย เป็นต้น
ในบางประเทศ
เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น
ได้มีการแยกกฎหมายพาณิชย์ไว้ต่างหากจากกฎหมายแพ่ง
เพราะต้องการความคล่องตัวในการดำเนินการพาณิชย์ เพื่อจะได้มีบทบังคับและหลักเกณฑ์แยกไปต่างหากจากบทบังคับแก่เอกชนทั่ว
ๆ ไป สำหรับประเทศไทยได้รวมเอากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้ด้วยกัน เรียกว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”
ที่มีกฎหมายทั้งหมด 1,755 มาตรา
แบ่งออกเป็น
1) บรรพ 1 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักทั่วๆ ไป
เกี่ยวกับบุคคลและสิ่งที่บุคคลต้องเกี่ยวพันอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน คือ
ทรัพย์และนิติกรรม ทั้งนี้ โดยบัญญัติเริ่มตั้งแต่สภาพบุคคล ความสามารถของบุคคล
นิติบุคคล ทรัพย์ การทำนิติกรรมและผลบังคับของนิติกรรม
2) บรรพ 2 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องหนี้
เริ่มตั้งแต่บ่อเกิดแห่งหนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่เกิดจากหนี้
รวมตลอดถึงความระงับแห่งหนี้ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสัญญา
การจัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ละเมิด อีกด้วย
3) บรรพ 3
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเอกเทศสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาเฉพาะอย่าง ที่แยกระบุชื่อ
และมีรายละเอียดที่แตกต่างจากบทบัญญัติในบรรพ 2 โดยกล่าวถึงสัญญา 23 ประเภทด้วยกัน
ซึ่งแต่ละประเภทล้วนมีส่วนเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตและการประกอบธุรกิจของบุคคลทั่วไป เช่น ซื้อขาย
เช่า ทรัพย์ เช่าซื้อ กู้ยืม
ค้ำประกัน จำนอง จำนำ จ้างทำของ หุ้นส่วนบริษัท ฯลฯ เป็นต้น
4) บรรพ 4 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ
ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น กรรมสิทธิ์ การครอบครอง สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน
สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
5) บรรพ 5 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว
เริ่มตั้งแต่การหมั้น การสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา บิดามารดากับบุตร
บุตรบุญธรรม ค่าอุปการะเลี้ยงดูและทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา
6) บรรพ 6 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับมรดก
โดยบัญญัติตั้งแต่การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก การเป็นทายาท สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก
พินัยกรรม วิธีจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดก รวมตลอดถึงการจัดการมรดกที่ไม่มีผู้รับ
5. ความรับผิดในทางกฎหมาย
5.1 ประเภทความรับผิด
เมื่อบุคคลกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จะต้องรับผิดในการกระทำนั้น ความรับผิดของบุคคลในทางกฎหมายแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
5.1.1 ความรับผิดทางอาญา
คือการที่บุคคลต้องได้รับโทษทางอาญาซึ่งมี
5 ประการด้วยกัน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และ ริบทรัพย์สิน
หากกระทำการอันเข้าองค์ประกอบต้องรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น
ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนตาย ปลอมเอกสาร ฉ้อโกง เป็นต้น
5.1.2 ความรับผิดทางแพ่ง
คือความรับผิดของบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น
ความรับผิดตามสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย เป็นต้น
5.2 ข้อแตกต่างระหว่างความรับผิดทางแพ่งกับความรับผิดทางอาญา
ความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และความรับผิดทางอาญาตามประ
มวลกฎหมายอาญาหรือพระราชบัญญัติอื่นที่มีโทษทางอาญา มีข้อแตกต่างที่สำคัญ ดังนี้
5.2.1 ความประสงค์
ความรับผิดทางอาญา
เป็นเรื่องที่รัฐมุ่งจะบำรุงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของบ้าน
เมืองและสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนเป็นส่วนรวม ปกติเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ วางเพลิงเผาทรัพย์
ฉ้อโกง เป็นต้น
ความรับผิดทางแพ่ง
มีความประสงค์จะคุ้มครองป้องกันสิทธิของเอกชนต่อเอกชน
ที่จะไม่ให้ผู้ใดละเมิดสิทธิหรือทำผิดสัญญา เมื่อมีการทำละเมิดสิทธิหรือทำผิดสัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเยียวยาหรือหาทางแก้ไขให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม
ให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ความเสียหายในทางแพ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อบุคคลโดยเฉพาะ
ไม่กระทบกระเทือนสาธารณชนโดยทั่วไป ดังนั้น
ในเรื่องความผูกพันระหว่างบุคคลในทางแพ่งนั้นรัฐจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง
หากบุคคลใดได้รับความเสียหายเนื่องจากบุคคลอีกฝายหนึ่งทำละเมิดหรือทำผิดสัญญาก็ต้องไปว่ากล่าวกันเอง
รัฐไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย
5.2.2 สภาพบังคับ
ในทางอาญา
สภาพบังคับมีเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการทดแทนการกระทำที่ตนก่อ ขึ้น
เพื่อแยกผู้กระทำผิดซึ่งเป็นภัยต่อสังคมออกไปเสียจากชุมชน
และเพื่อให้มีความเกรงกลัวหลาบจำ สภาพบังคับในทางอาญาจึงเป็นการบังคับเอาต่อชีวิต
ร่างกาย เสรีภาพ และอาจรวมถึงทรัพย์สินของผู้กระทำผิดอีกด้วย
สภาพบังคับตามกฎหมายอาญานั้นกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ว่า
โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด มีดังนี้ (1)
ประหารชีวิต (2) จำคุก (3)
กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน
ในทางแพ่ง
หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็อาจขอให้บังคับอีกฝ่ายหนึ่งใช้ค่าสินไหม
ทดแทนหรือรับผิดตามสัญญา
ซึ่งสภาพบังคับในทางแพ่งนั้นจะมุ่งบังคับเอาจากทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ไม่ไปบังคับถึงชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพของฝ่ายที่ผิดสัญญาหรือทำละเมิด
สภาพบังคับทางแพ่งมีหลายวิธี
ดังต่อไปนี้
(1)
กำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนนั้นตกเป็นโมฆะ คือ ตกเป็นอันเสียเปล่า ไร้ผล
ไม่มีข้อผูกพันตามกฎหมายแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
456 บัญญัติว่า “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่าเป็นโมฆะ”
(2) กำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนนั้นตกเป็นโมฆียะ
คือ การกระทำนั้นยังสมบูรณ์อยู่ แต่อาจจะมีการบอกล้างให้สิ้นผลในภายหลังได้
ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา21 บัญญัติว่า “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน
การใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้กระทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้น เป็นโมฆียะ
เว้นแต่จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
(3) การบังคับให้ชำระหนี้
เมื่อบุคคลใดเป็นลูกหนี้บุคคลอื่นก็ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องชำระหนี้
ถ้าลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้
เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้อง(ฟ้องศาลขอให้บังคับ)ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 บัญญัติว่า “ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
อนึ่งการชำระหนี้ด้วยการงดเว้นการอันใดอันหนึ่งย่อมมีได้”
(4) การริบมัดจำ
ในบางครั้งเมื่อมีการตกลงทำสัญญากัน
เพื่อให้มีหลักประกันว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญากัน
อาจมีการตกลงกันให้มีการวางเงินมัดจำไว้
เงินมัดจำนี้ถ้าผู้วางเป็นฝ่ายผิดสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิริบได้
ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 บัญญัติว่า “มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังกล่าวต่อไปนี้
คือ 1)
ให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ 2) ให้ริบ
ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย
เพราะพฤติกรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบหรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย
เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ”
(5) เรียกเบี้ยปรับ
ในบางครั้งคู่สัญญาไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิบัติตามสัญญาได้
จึงมีการกำหนดเบี้ยปรับขึ้นไว้ สำหรับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาต้องใช้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
เบี้ยปรับจึงเท่ากับการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า
อย่างไรก็ตามจะกำหนดเบี้ยปรับไว้สูงเกินกว่าค่าเสีย หายที่แท้จริงมิได้
เรื่องเบี้ยปรับนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ใหัสัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี
หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ
ถ้าการจะชำระหนี้อันพึงจะทำนั้นได้แก่การงดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใดก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น”
5.2.3 ความรับผิด
ในทางอาญา
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาหรือกระทำโดยประมาทซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อกระทำโดยประมาท
ในทางแพ่ง
บุคคลจะต้องรับผิดชำระหนี้ทางแพ่งเพราะเหตุใดบ้างนั้นเป็นไปตามเรื่อง “บ่อเกิดแห่งหนี้”
ซึ่งได้แก่ นิติกรรมสัญญา จัดการงานอกสั่ง ละเมิด เป็นต้น
5.2.4 ความรับผิดของทายาท
ในทางอาญา
ถือหลักวาความรับผิดทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครผิดก็ไปว่าเอาแก่คนนั้น ดังบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 39 (1) ว่า
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วยเหตุแห่งการตายของผู้กระทำผิด
ความรับผิดในทางแพ่ง
ของฝ่ายที่ผิดสัญญาหรือฝ่ายที่ทำละเมิดอาจตกทอดไปยังทายาทของฝ่ายนั้นได้ด้วย
แต่ทายาทนั้นไม่ต้องรับผิดเกินกว่าส่วนมรดกที่ตนได้รับ
6. ธุรกิจกับกฎหมาย
โดยที่มนุษย์ต้องแสวงหาสิ่งของและวัตถุเพื่อการยังชีพ
ดังนั้นการทำมาหากินแลกเปลี่ยน สิ่งของจึงเป็นสิ่งจำเป็นของสังคม
และได้กลายเป็นธุรกิจการค้าระหว่างผู้คนในชุมชน
ระหว่างชุมชนต่อชุมชนตลอดจนระหว่างประเทศไปในที่สุด
กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจในทันทีที่เริ่มต้นคิดว่าจะทำธุรกิจในรูปแบบใด
หากเป็นกิจการขนาดเล็กและไม่ต้องการเสี่ยงภัย
ไม่อยากยุ่งยากที่จะต้องไปจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัท ก็ทำคนเดียว
แต่ถ้าต้องการร่วมทุนกับคนอื่น
กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มขึ้นมาอีก สัญญาหุ้นส่วน
ข้อบังคับบริษัทที่กำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของหุ้นส่วนแต่ละฝ่าย
เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาและกำหนดแนวทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
นอกจากนี้ถ้าเป็นธุรกิจประเภทที่ต้องนำสินค้าออกสู่ท้อง ตลาด
ก็จำเป็นต้องหามาตรการป้องกันสิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์เพื่อช่วยมิให้สิ่งที่สร้างสรรค์ด้วยสติปัญญาของตนต้องถูกผู้อื่นขโมยไป
นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นส่วน
การที่ผู้ประกอบการจะต้องมีสัมพันธภาพทางการค้ากับลูกค้าหรือพ่อค้ารายอื่น ๆ
รวมตลอดถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องนั้น ความสัมพันธ์กันทุกด้านนี้สามารถสร้างปมหรือปํญหาทางกฎหมายได้ทั้งสิ้น
หากนักธุรกิจหรือบุคคลในองค์กรธุรกิจนั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมสัญญาหรือเอกเทศสัญญาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องในธุรกิจแขนงนั้น
ๆ แต่นักธุรกิจที่รู้ข้อกฎหมายในสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยย่อมสามารถรักษาฐานะของตนมิให้เสียเปรียบ
หรือตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ร่วมค้าหรือคู่สัญญา ด้วยเหตุเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้
กฎหมายที่เกี่ยวพันกับธุรกิจมากที่สุดคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่ว่าด้วยความสามารถของบุคคล
การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท
นิติกรรมและหนี้ สัญญา สัญญาซื้อขาย ขายฝาก เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน
จ้างแรงงาน จ้างทำของ สัญญายืม ฝากทรัพย์ ค้ำประกัน จำนำ จำนอง ตัวแทน นายหน้า
ตั๋วเงิน สัญญาใช้เงิน เช็ค ทั้งหมดนี้ประกอบกันจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจมากที่สุด
นอกจากนี้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร
ก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอีกด้วย
การศึกษาวิชากฎหมายธุรกิจจึงเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์การทำนิติกรรม
สัญญาประเภทต่าง ๆ ผลจากการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
ความรับผิดในกรณีผิดสัญญาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
และในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเตรียมป้องกันเหตุไว้ล่วงหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสัญญาที่มีมูลค่าสูง
ซึ่งย่อมเป็นการป้องกันความเสียหายมิให้เกิดขึ้นกับธุรกิจของตน.
7. การศึกษาวิชากฎหมาย
ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย
ได้ชี้แนะแนวทางในการศึกษาวิชากฎหมายไว้ดังนี้
โดยที่กฎหมายไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีรูปร่าง
สิ่งที่นักศึกษาพึงจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็คือตัวบท ฉะนั้น การศึกษาที่ถูกต้อง
นักศึกษาจะต้อง (1) มีความจำ
(2) มีความเข้าใจ และ (3) ต้องสามารถนำตัวบทกฎหมายไปใช้ให้ถูกต้อง
1. ต้องมีความจำ
หมายความว่า
จะต้องมีความจำในตัวบทของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติไว้ เช่น
ในเรื่องนิติกรรมและสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของมูลหนี้
ในการนี้เพื่อให้ง่ายแก่การจดจำตัวบท
ผู้สอนจะได้แยกแยะตัวบทออกเป็นหลักเกณฑ์เป็นข้อ ๆ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเรียกว่า “องค์ประกอบ” เช่น
ถ้าจะพูดถึงเรื่องนิติกรรมก็ควรจะกำหนดองค์ประกอบจากตัวบทของมาตรา 149 ที่ว่า “นิติกรรมหมายความว่าการใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร
มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน
หรือระงับซึ่งสิทธิ” ดังนั้นการที่จะเป็นนิติกรรมได้นั้นต้องประกอบด้วย\
(1) การกระทำ(ของมนุษย์) (2) ที่ชอบด้วยกฎหมาย (3) ด้วยใจสมัคร
(4) มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน
สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ”
ถ้าทำได้เช่นนี้ ผู้ใดจำตัวบทได้
ก็เท่ากับจำหลักเกณฑ์ได้ ถ้าจำหลักเกณฑ์ได้ก็เท่ากับจำตัวบทได้
จริงอยู่ในบางกรณีอาจารย์อาจต้องมีหลักเกณฑ์อื่นมาเพิ่มเติมก็เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นแต่ก็ต้องอธิบายให้เห็นว่าหลักเกณฑ์นั้นมาจากถ้อยคำของตัวบทตอนใด
ข้อที่ควรระลึกมีว่า ในการตอบข้อสอบ
นักศึกษาต้องยกเอาหลักเกณฑ์มาตอบ
การตอบโดยไม่ยึดหลักเกณฑ์มาตอบจะไม่ได้รับผลดีในการตอบข้อสอบเลย
และการที่ผู้สอนได้เอาตัวบทมาแยกเป็นหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบเป็นข้อ ๆ นั้น
ก็เพราะมีความประสงค์ 3 ประการ ดังนี้
ก. จำง่าย
เพราะหลักเกณฑ์ประกอบด้วยถ้อยคำสั้น ๆ
ข. มีสมาธิ คือ ในขณะที่นักศึกษากำลังอธิบายหลักเกณฑ์ข้อใด
ก็จะได้มีสมาธิมุ่งอธิบายหลักเกณฑ์ข้อนั้นข้อเดียว
โดยจิตใจไม่พะวงถึงหลักเกณฑ์ข้ออื่นซึ่งยังไม่ถึงคราวที่จะต้องพิจารณา ทั้งนี้คือ
ถ้าแยกหลักเกณฑ์เป็นข้อ ๆ ไปเช่นนี้แล้ว
ความคิดของนักศึกษาก็จะไม่ปะปนยุ่งเหยิงสับสน คือค่อยคิดทีละข้อ ๆ
ค. ประหยัดเวลา เช่น ในเรื่อง นิติกรรม
ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว หาก นาย ก. เสนอขายเฮโรอีนแก่นาย ข.
การดังกล่าวจะถือว่านาย ก. ก่อนิติกรรมหรือไม่นั้น การเสนอขายเป็น การกระทำ
เข้าองค์ประกอบข้อแรก แต่การขายเฮโรอีนนั้นกฎหมายต้องห้าม ดังนั้นจึงไม่เข้าองค์ประกอบข้อ
2 ที่ว่าโดยชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้นักศึกษาไม่ต้องพิจารณาองค์ประกอบข้ออื่นเพราะเมื่อไม่เข้าองค์ประ
กอบข้อ 2 แล้วก็ไม่ถือเป็นนิติกรรม เพราะไม่ครบองค์ประกอบตามตัวบท
ส่วนทำอย่างไรนักศึกษาแต่ละคนจึงจะจำตัวบทหลักเกณฑ์และคำอธิบายได้นั้น
เป็นเรื่องที่จะพิจารณาว่าตนเองถนัดอย่างไร คือ บางคนอ่านดัง ๆ ก็จำได้
บางคนต้องย่อท่องจึงจะจำได้ บางคนต้องเอามาย่อและคัดลอกจึงจะจำได้
นักศึกษาถนัดอย่างใดก็ควรทำอย่างนั้น
2. ต้องมีความเข้าใจ
การจดจำถ้อยคำในตัวบทก็ดี
การจดจำหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบที่เอามาจากตัวบทก็ดี
การจดจำคำอธิบายดังที่ปรากฏในคำบรรยายในห้องสอนก็ดี ตามที่พิมพ์ขึ้นก็ดี
จะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย
ถ้านักศึกษามีความจดจำเหมือนนกแก้วคือไม่เข้าในข้อความแต่อย่างใดเลย
เพราะการจำโดยปราศจากความเข้าใจนั้น ถ้าจำขาดหล่นไปสักคำสองคำ ที่จำนั้นก็ไร้ความหมาย
โดยเหตุนี้ นักศึกษาจะต้องพยายามทำความเข้าใจความหมายของถ้อยคำในตัวบท
ความหมายของหลักเกณฑ์หรือองค์ประ กอบตลอด จนคำอธิบายหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบนั้น ๆ
ปัญหามีว่า
นักศึกษาจะทดลองตัวเองได้อย่างไรว่า มีความเข้าใจในถ้อยคำของตัวบท หลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบตลอดจนคำอธิบายหลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบนั้น
ๆ เห็นว่า ถ้านักศึกษาสามารถอธิบายตัวบท
หลักเกณฑ์หรือองค์ประกอบด้วยถ้อยคำของตนเองได้เมื่อใด
เมื่อนั้นนับว่านักศึกษาได้เข้าใจคำอธิบายด้วยถ้อยคำตนเองได้
ถ้าเป็นแต่พยายามนึกว่าคำบรรยายใช้ถ้อยคำว่าอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้น
เมื่อนั้นขอได้โปรดทราบว่านักศึกษายังไม่เข้าใจคำอธิบายเลย
นักศึกษาเป็นแต่จำได้เท่านั้น ซึ่งยังหาเป็นการเพียงพอสำหรับการศึกษากฎหมายไม่
ฉะนั้น ในเวลาว่าง ๆ
นักศึกษาควรจะลองอธิบายข้อความตามที่ได้ฟังคำสอนหรือที่ได้อ่านคำบรรยายไปแล้วด้วยภาษาของตนเอง
แม้จะเป็นการอธิบายอยู่ในใจก็จะเป็นการทดลองว่านักศึกษาเข้าใจหรือไม่
เมื่อปรากฏว่านักศึกษายังไม่เข้าใจคำอธิบายตัวบท
หลักเกณฑ์ หรือองค์ประกอบแล้ว ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจด้วยตนเองโดยอ่านหลาย ๆ
ครั้ง แต่ถ้ายังไม่เข้าใจขอได้โปรดมาหาครูผู้สอนเพื่อจะได้อธิบายให้แจ่มแจ้ง
ขอได้โปรดอย่าเก็บเอาความไม่เข้าใจไว้
เพราะจะทำให้เป็นการพอกหรือสะสมความไม่เข้าใจเหมือนดินพอกหางหมู
ซึ่งมีแต่จะมากขึ้นทุก ๆ วิชากฎหมายมีข้อความเกี่ยวโยงกัน
ถ้านักศึกษาไม่เข้าใจตอนต้นก็อาจไม่เข้าใจตอนหลัง ๆ ได้ ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ความไม่เข้าใจเกิดแก่นักศึกษาตอนหนึ่งตอนใดเป็นอันขาด
มิฉะนั้นเวลาที่นักศึกษาสอบไล่ นักศึกษาจะรู้สึกหวั่นวิตก
เพราะเกรงว่าอาจพบข้อสอบไล่ ซึ่งออกมาตอนที่นักศึกษายังไม่เข้าใจก็ได้
ซึ่งจะทำให้ไม่มีสมาธิในการที่จะเขียนคำตอบออกมาให้ได้ผลดี
3. ต้องสามารถนำตัวบทกฎหมายไปใช้ให้ถูกต้อง
มีความหมาย
2 ประการ คือ
(1)
สามารถตอบปัญหาในการสอบไล่ได้โดยถูกต้อง เพราะนักศึกษาเข้าใจตัวบทดีอยู่แล้ว (2)
สามารถจะนำความรู้ในทางกฎหมายไปใช้แก่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นภายหน้าได้
ในการใช้กฎหมายนี้
มีข้อที่จะต้องพิจารณา 4 ข้อตามลำดับดังนี้ 1.
กรณีตอบปัญหาในการสอบไล่ หรือตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องอะไร ? 2. กรณีเรื่องนั้น ๆ
มีองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าอย่างไร ? 3. ข้อเท็จจริงตามปัญหาข้อสอบหรือที่เกิดขึ้นจริง
ๆ เข้าองค์ประกอบ หรือหลักเกณฑ์นั้น
ๆ หรือไม่ ? 4. ในกรณีที่เข้าหรือไม่เข้าองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ของกฎหมายจะมีผลเป็นประการใด?
ตัวอย่าง
ก.
เข้าไปในร้านขายผ้า ถาม ข. ผู้ขายว่า ผ้าที่ ก. เลือกและชอบนี้ราคาเมตรละเท่าใด ก.
ต้องการซื้อจำนวน 3 เมตร ข.
บอกว่าราคาเมตรละ 10 บาท ก. บอกว่าแพงไป ขอซื้อในราคาเมตรละ 5 บาท ข. ไม่ตกลง พอ
ก. เดินออกจากร้าน ข. ก็บอกขายในราคาเมตรละ 5 บาท
คราวนี้ ก. บอกว่าไม่ซื้อ เพราะ ข. ไม่ตกลงขายตั้งแต่แรก ดังนี้ ข.
จะฟ้องขอให้ ก. ชำระราคาได้หรือไม่ ?
วิธีตอบข้อสอบหรือวิธีวิธีวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง
ก็คือ
1.
เป็นเรื่องอะไร ก็ต้องตอบว่า เป็นเรื่องสัญญาซื้อขาย
ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าสัญญาซื้อขายระหว่าง ก. กับ ข. เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะ ข.
จะฟ้องขอให้ ก. ชำระราคาได้ย่อมขึ้นอยู่ที่ว่า สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นหรือไม่
2.
กรณีเรื่องการเกิดขึ้นของสัญญาซื้อขายนี้มีองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์อย่างไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สัญญาจะต้องประกอบด้วยคำเสนอและคำสนอง และคำเสนอและคำสนองนี้จะต้องสอดคล้องต้องกัน
โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาตรา 359 วรรค 2 บัญญัติว่า “คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด
หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ
ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ในตัว” นอกจากนี้ มาตรา 357
บัญญัติว่า “คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้ว ฯลฯ
คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดความผูกพันแต่นั้นไป”
3.
ข้อเท็จจริงตามปัญหาเข้าองค์ประกอบหรือไม่
จะเห็นว่าการที่ ก.
ต่อราคาลงมาเหลือเมตรละ 5 บาทนั้น เป็นคำแก้ไขคำเสนอของ ข. ฉะนั้น
จึงมีลักษณะเป็นการบอกปัดไม่รับคำเสนอพร้อมกับเป็นคำเสนอขึ้นมาใหม่ แต่คำเสนอของ ก
. นี้ ข. ผู้ขายได้บอกปัดเสียแล้วโดย ข. ไม่ตกลงขาย กรณีจึงเข้ามาตรา 357
ดังกล่าวในข้อ 2 ฉะนั้นคำเสนอของ ก. จึงไม่ผูกพัน ก. การที่ ข. กลับใจขายของในราคาเมตรละ
5 บาทในภายหลังจึงเป็นแต่เพียงคำเสนอของ ข. ฝ่ายเดียว โดย ก. ไม่ได้สนองรับ
สัญญาซื้อขายจึงไม่ได้เกิดขึ้น
4.
เมื่อปรับข้อเท็จจริงตามปัญหากับองค์ประกอบ ผลจะเป็นประการใด จะเห็นได้ว่าเมื่อสัญญาซื้อขายระหว่าง ก. และ
ข. ไม่เกิดขึ้น ข. จึงฟ้องเรียกเงินค่าผ้าจาก ก. ไม่ได้
ความขยันหมั่นเพียรเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้นักศึกษาใช้กฎหมายที่ตนจดจำและเข้าใจได้โดยถูกต้อง
คำบรรยายและตำราย่อมีอุทาหรณ์ประกอบ
ซึ่งถ้านักศึกษาหยิบยกอุทาหรณ์ขึ้นมาพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ นักศึกษาจะเห็นว่าการนำกฎหมายจริง
ๆ มาใช้ในทางปฏิบัติมีอยู่อย่างไร นอกจากนี้ในกรณีที่พบตัวอย่างจริง ๆ ของชีวิต
เช่น นักศึกษาซื้อก๋วยเตี๋ยวกิน นักศึกษาก็ต้องลองคิดดูว่าคำพูดตอนใดเป็นคำเสนอ
ตอนใดเป็นคำสนอง ซึ่งเป็นเรื่องของสัญญา ถ้านักศึกษาจะมีความขยันและพิจารณาดูจะเห็นว่าสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องของกฎหมายทั้งสิ้น
ตั้งแต่บิดามารดาให้เงินมาโรง เรียน นักศึกษานั่งรถประจำทางมาเรียนหนังสือ
ซื้อสมุดกระดาษปากกกามาเขียน
ถ้านักศึกษาหัดคิดทำนองดังกล่าวนี้ด้วยความขยันหมั่นเพียรแล้วจะรู้สึกว่าการที่จะนำกฎหมายมาใช้โดยถูกต้องนั้นไม่ยาก
ลำบากเท่าใดนักและการหัดคิดเสียในขณะที่ศึกษาก็ยังเป็นการฝึกฝนมันสมองเวลาสอบไล่ก็คิดได้โดยเร็ว
ขอสรุปว่า ต้องจำให้ได้ ต้องเข้าใจให้ดี และใช้ให้ถูก