หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

ขั้นตอนการพิจารณาคดีอาญาของศาล




ประเภทของคดีอาญา
          การแบ่งประเภทคดีอาญานั้นพิจารณาจากอำนาจในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งพิจารณาจากผู้เสีย หายเป็นสำคัญ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น - ประเภท คือ คดีอาญาความผิดอันยอมความได้ คดีอาญาความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แต่ละประเภทคดีมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
1. คดีอาญาความผิดอันยอมความได้
          ความผิดอันยอมความได้ หรือความผิดต่อส่วนตัว หมายถึงคดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความ ผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ อนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน เป็นต้น
          ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป
2. คดีอาญาความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้
          ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้หรือความผิดอาญาแผ่นดิน หมายถึงคดีอาญาประเภทที่นอก จากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญานอกจากที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้แล้ว จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น
          เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนอื่น วาง เพลิงเผาทรัพย์ ขับรถประมาท เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนี้ แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ไม่ทำให้คดีระงับ เจ้าพนักงานของรัฐก็สามารถดำเนิน คดีกับผู้กระทำผิดต่อไปได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ก่อนแต่อย่างใด
3. คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึง คดีแพ่งที่ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลฐานความรับผิดเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งหมายความว่าการกระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งแก่ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดนั้น เช่น นายแดงขับรถชนนายดำ จนนายดำได้รับบาดเจ็บสาหัส ในคดีอาญานายแดงย่อมมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนในทางแพ่งการที่แดงขับรถชนดำด้วยความประมาทเป็นการละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น จะเห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีมูลมาจากการที่นายแดงกระทำความผิดต่อนายดำนั้นเอง
ชั้นก่อนฟ้องคดี
          ก่อนที่คดีอาญาจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลต้องผ่านกระบวนหลายขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานหลักฐาน เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง อันจะนำไปสู่การฟ้องร้องและพิจารณาลงโทษในอนาคต โดยการดำเนินคดีอาญาของไทยนั้น สามารถนำคดีอาญาไปสู่ศาลได้ 2 วิธี แยกพิจารณาดังนี้
1. การฟ้องคดีโดยผู้เสียหาย
          ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ได้กำหนดให้ผู้เสียหายในคดีอาญามีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย[5] ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิแก่ผู้เสียหายในการดำเนินคดีอาญาเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งรัฐในการดำเนินคดีอาญาให้ โดยผู้เสียหายสามารถทำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นได้เลย แต่การฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายนั้น มีหลักเกณฑ์ที่ผู้เสียหายจะต้องคำนึงดังนี้
          บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้เสียหายตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.2(4) "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจ จัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6 ดังนั้นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
          1) ผู้เสียหายที่แท้จริง
          2) ผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
          โดยการฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายนั้นกฎหมายกำหนดให้ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้อง ก่อนที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาเสมอ ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี (การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ) ที่ศาลไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนศาลสามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้เลย อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคท้าย ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลย ทราบจำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยาน โจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มาแต่ตั้งทนายมาซักค้านพยาน โจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับ ฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น
2. การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ
          การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐถือเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐเป็นผู้ดำเนินคดีอาญาทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว พนักงานสอบสวนจะเริ่มทำการสอบสวนความผิด โดยออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาให้การ หากไม่มาตามหมายก็ต้องมีการออกหมายจับต่อไป ซึ่งการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ
          1) ขั้นตอนการร้องทุกข์กล่าวโทษ
          ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นถือว่าคดีขาดอายุความ เพราะความผิดต่อส่วนตัวนี้ ความประสงค์ของผู้เสียหายถือเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดี หากผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็ไมสามารถดำเนินคดีอาญาได้ แต่หากความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หรือความผิดอันยอมความไม่ได้ ผู้เสียหายไม่จำต้องไปร้องทุกข์ก่อน หากมีการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีอาญาได้เลย
          2) ขั้นตอนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน
          เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วขั้นตอนต่อไปคือการสอบสวน ในการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐนั้นกฎหมายห้ามไม่ให้พนักงานอัยการฟ้องคดีหากคดีนั้นไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบ ซึ่งแตกต่างจากการฟ้องคดีอาญาโดยเอกชนผู้เสียหายที่ไม่จำต้องมีการสอบสวนก่อน เอกชนผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ทันที แต่คดีอาญาที่ผู้เสียฟ้องเองนั้นต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องเสมอทั้งนี้เพื่อเป็นการกลั่นกรองคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล โดยผู้ที่มีอำนาจทำการสอบสวนคือพนักงานสอบสวน การสอบสวนนั้นคือการที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
          การดำเนินการในชั้นสอบสวนนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องทำการแจ้งข้อหาให้แก่ผู้ต้องหาได้ทราบว่าเขาทำผิดข้อหาอะไร และจะต้องแจ้งสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายให้แก่ผู้ต้องหาทราบด้วยเช่นกัน เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การใด ๆ เลยก็ได้ สิทธิในการมีทนายความหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความรัฐก็ต้องจัดหาให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวน ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้เพื่อทำการสอบสวนต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินคดี ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ต้องหานั้นได้มีสิทธิในการต่อสู่คดีได้อย่างเต็มที่
          เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการสั่งคดีต่อไป
          3) ขั้นตอนการสั่งคดีของพนักงานอัยการ
          การสั่งคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นทนายความแผ่นดิน ดำเนินคดีในชั้นศาลแทนรัฐ การสั่งคดี คือ การที่พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจการสั่งคดีอาญาว่าคดีอาญาที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลที่จะฟ้องร้องต่อศาลต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาจากสำนวนการสอบสวนที่พนักงายสอบสวนได้ส่งมา พร้อมพยานหลักฐานที่รวบรวมมาทั้งหมด หากพนักงานอัยกาเห็นว่าคดีอาญานั้นไม่มีมูลที่จะฟ้องร้อง(เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้ทำผิด) พนักงานอัยการอาจมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือหากว่าพนักงานอัยการเห็นว่าตามสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานนั้นเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง ก็มีคำสั่งฟ้องคดีและนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป
          เนื่องจากการสั่งคดีของพนักงานอัยการของไทยนั้นเป็นการสั่งคดีตามหลัก (Opportunity Principle) ซึ่งให้ดุลพินิจแก่พนักงายอัยการในการสั่งคดี แม้คดีนั้นปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง พนักงานอัยการก็อาจมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ เช่น พนักงานอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง แต่การฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจะไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ก็อาจมีคำสั่งไม่ฟ้องได้
3. ศาลที่รับฟ้อง
          การจะยื่นฟ้องที่ศาลใดให้พิจารณาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตศาลใดหรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับในเขตศาลใดหรือพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในเขตศาลใด ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาคดี
          ในกรุงเทพมหานครศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้แก่ ศาลอาญา ศาลอาญากรุง เทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลแขวงในเขตกรุงเทพมหานคร
          ในต่างจังหวัด ได้แก่ ศาลจังหวัด และศาลแขวง

          การแบ่งแยกอำนาจศาลระหว่างศาลทั่วไปกับศาลแขวงพิจารณาจากอัตราโทษ กล่าวคือ คดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อยู่ในอำนาจของศาลแขวง (ในจังหวัดที่ยังไม่มีศาลแขวงเปิดทำการ ศาลจังหวัดจะนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการผัดฟ้อง การฟ้องและการพิพากษาคดีด้วยวาจา)




ชั้นพิจารณาคดีและพิพากษา
            เมื่อคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว หรือในคดีที่เอกชนผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลและศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีประทับรับฟ้องไว้พิจารณา ถือได้ว่าคดีอาญานั้นเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว การพิจารณาคดีอาญาในศาลนั้นต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา โดยที่การค้นหาความจริงในคดีเป็นเรื่องของคู่ความ(โจทก์และจำเลย) โดยที่ศาลวางตัวเป็นกลางคอยทำหน้าที่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดกติกา ซึ่งมีลักษณะเป็นการพิจารณาคดีในระบบกล่าวหา ซึ่งแยกขั้นตอนในชั้นศาลออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนของการพิจารณา (สืบพยาน) และขั้นตอนของการทำคำพิพากษา
ข้อควรปฏิบัติเมื่อศาลสั่งประทับฟ้อง
            เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว หากจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีควรปฏิบัติ ดังนี้
          หากศาลมีคำสั่งขังจำเลย จำเลยสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือชั้นฝากขังหรือไม่ก็ตาม
          หาทนายความเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีต่อไป (โดยติดต่อหาทนายความด้วยตนเองหรือขอ ให้ศาลตั้งทนายความให้)
          ตรวจดูสำนวนคดีและสิ่งที่โจทก์ยื่นเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาคดี
การพิจารณาและสืบพยานในศาล
          จะกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย โดยศาลจะอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังและศาลจะสอบถามจำเลยว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่และจดคำให้การของจำเลยไว้
          กรณีจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาคดีโดยไม่ต้องสืบพยานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลัก ฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลย
          กรณีจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อ ไป  โดยศาลจะสั่งนัดสืบพยานโจทก์ก่อน เสร็จแล้วจึงนัดสืบพยานจำเลย หลังจากสืบพยานของทั้ง 2 ฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วศาลจะนัดฟังคำพิพากษา
          โจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลทุกนัด (นัดสืบพยานโจทก์) หากไม่มา ศาลต้องยกฟ้อง เว้นแต่ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มาศาลโดยมีเหตุสมควร ศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
          หากจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ศาลจะออกหมายจับจำเลยและปรับนายประกัน (ในกรณีจำเลยได้รับการประกันตัว) และหากศาลไม่แน่ใจว่าจะจับจำเลยได้เมื่อใดก็จะจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดีต่อไป
          การสืบพยาน คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนจำเลย และเมื่อโจทก์สืบ พยานเสร็จแล้ว จำเลยจึงนำพยานเข้าสืบต่อไป
          ก่อนสืบพยานโจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลงเปิดคดี และหลังจากสืบพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วโจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลงปิดคดี
คำพิพากษาในคดีอาญา
          คำพิพากษาของศาลอาจแยกเป็นพิพากษายกฟ้องหรือพิพากษาลงโทษ
           โทษที่ศาลพิพากษามี 5 สถาน ได้แก่
          1. โทษประหารชีวิต ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย
          2. โทษจำคุก จำเลยจะถูกจำคุกไว้ในเรือนจำตามกำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา โดยที่อาจมีการร้องขอให้ศาลสั่งทุเลาโทษจำคุกไว้ก่อนได้ เช่น กรณีของจำเลยเป็นคนวิกลจริต อาจมีการร้องขอให้ศาลทุกเลาการจำคุกไว้ก่อน จนกว่าจำเลยจะหายจากอาการวิกลจริต
          การคำนวณระยะเวลาจำคุกจะนับวันเริ่มจำคุกรวมเข้าด้วยและนับเป็น 1 วันเต็ม โดยไม่คำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาจำคุกกำหนดเป็นเดือนให้นับ 30 วันเป็น 1 เดือน ถ้ากำหนดเป็นปี คำนวณตามปีปฏิทิน
          3. โทษกักขัง จำเลยจะถูกกักขังไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ เช่นสถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
          4. โทษปรับ จำเลยต้องชำระเงินตามจำนวนที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภาย ใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจำเลยอาจถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับ (ถืออัตรา 500 บาทต่อหนึ่งวัน และห้ามกักขังเกินกำหนด 1 ปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไปจะสั่งกักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปีก็ได้)
          อย่างไรก็ตามหากศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะไม่ชำระค่าปรับ ศาลอาจสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่า ปรับไปก่อนก็ได้ และหากจำเลยเคยถูกควบคุมตัวมาก่อนไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวนหรือชั้นพิจารณาของศาล ศาลจะนำวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวมาหักวันคุมขังให้ด้วย
          5. โทษริบทรัพย์สิน
          หากเป็นทรัพย์ซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบได้เว้นแต่ทรัพย์เหล่านั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่แท้ จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด  อาจยื่นคำร้องขอคืนต่อศาลได้  ในกรณีที่เป็นทรัพย์ สินซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ศาลสั่งริบเสียทั้งสิ้น  ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใดก็ตามและผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงไม่อาจร้องขอคืนได้
           คำพิพากษาของศาลจะทำเป็นหนังสือ ยกเว้นในศาลแขวง คำพิพากษาจะทำด้วยวาจาก็ได้โดยบันทึกไว้พอให้ได้ใจความ  จำเลยจะต้องมาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามวันเวลาที่ศาลนัด  ถ้าจำเลยไม่มาและศาลมีเหตุสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีหรือจงใจไม่มาศาล ศาลจะออกหมายจับจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษา ถ้ายังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับ ศาลอาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นลับหลังจำเลยได้ โดยถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นโดยชอบแล้ว
การอุทธรณ์ ฎีกา
          1. เมื่อศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาฟังหากยื่นไม่ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว อาจยื่นคำร้อยขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ต้องยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่กรณี โดยต้องอ้างเหตุที่ไม่อาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทันภายในกำหนดด้วย
           2. การอุทธรณ์จะต้องเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายนั้นคู่ความสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกกรณี แต่ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นคู่ความจะต้องพิจารณาตาม ม. 193 ทวิ[15] ในกรณีของการอุทธรณ์ และต้องพิจารณาตาม ม. 218[16]
           3. คำฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีพอสมควร เช่น ชื่อคู่ความ ผู้อุทธรณ์ ฎีการายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลยในชั้นต้น หรือในชั้นอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณามีอย่างไร และศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาว่าอย่างไร ผู้อุทธรณ์หรือฎีกาไม่เห็นด้วยหรือโต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าวนั้นอย่างไร  ประเด็นใดพร้อมด้วยเหตุผลและคำขอท้ายอุทธรณ์ ฎีกา เช่น ให้แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ การยื่นคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำฟ้องฎีกา ทำได้โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้น  ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์  คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
***ข้อมูลนี้เป็นการให้บริการเชิงข้อมูล ไม่สามารถใช้อ้างอิงทางกฎหมายได้***