หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

นิติบุคคล


นิติบุคคล
ความหมาย :
นิติบุคคล หมายถึง กลุ่มบุคคลที่สมมติขึ้นเพ่อรวมตัวกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อรวมทุน รวมความคิด โดยให้มีสภาพคล้ายบุคคลธรรมดา เพราะต้องมีการก่อตั้ง การดำเนินงาน และการเลิกไป เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ซึ่งในการเป็นนิติบุคคลนั้น นิติบุคคลก็มีสิทธิและหน้าที่เช่น เดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่นั้นโดยสภาพจะมีได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดา เช่น การแต่งงาน, การรับบุตลบุญธรรม เป็นต้น
เนื่องจากนิติบุคคลเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคล เพราะฉะนั้นในการดำเนินการของนิติบุคคลจึงจะต้องมีผู้ที่สามารถแสดงเจตนาของนิติบุคคลได้  ซึ่งเรียกกันว่า ผู้แทน ของนิติบุคคล ซึ่งจะเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ และการเป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้น ก็มีความสำคัญต่อนิติบุคคลนั้นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อผู้แทนนิติบุคคลได้แสดงออกต่อบุคคลภายนอกแล้ว จะเป็นการผูกพันนิติบุคคลนั้นทันที่ หากการแสดงออกนั้นได้กระทำไปภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล
ความเป็นมาของนิติบุคคล :
            เมื่อมนุษย์มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น และการพึ่งพากันนั้นก็ไม่ใช่การพึ่งพากันเฉพาะในหมู่สังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่ยังขยายวงออกไปสู่สังคมอื่น ๆ การรวมกลุ่มนี้เรียกว่า คณะบุคคล จึงเกิดแนวความคิดที่จะให้คณะบุคคลมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เท่ากับว่า เป็นบุคคลเพียงคนเดียว และหาแกนกลางที่เป็นการแสดงออกในการกระทำของคณะบุคคล
            กิจการอันที่ทำนั้นจึงเป็นเหมือนสิ่งที่คน ๆ เดียวทำขึ้นโดยสมมติเอาจึงเรียกกันให้เป็นบุคคลโดยสมมติ
            การสมมติให้กิจการนั้นเป็นเพียงบุคคลคนเดียว ก็เพื่อให้ดำเนินงานต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว คล่องแคล่ว และบุคคลที่รวมตัวกันขึ้นนี้จะต้องตั้งขึ้นโดยมีกฎหมายรองรับ จึงจะสามารถทำนิติกรรมได้ จึงตั้งชื่อบุคคลที่สมมติขึ้นเป็นกิจการนี้ว่า นิติบุคคล หรือ “Juristic Persons” เพื่อให้เป็นอย่างเดียว กับบุคคลธรรมดา นิติบุคคลจึงเป็นผลที่เกิดขึ้นจากกฎหมายรับรองและบังคับบัญชาให้ นิติบุคคลจึงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของมนุษย์ โดยอาศัยหลักกฎหมายเป็นพื้นฐาน
            ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงคำว่า บุคคล จึงต้องพิจารณารวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
ความสำคัญของนิติบุคคล :
            ความสำคัญของนิติบุคคล แบ่งพิจารณาออกเป็น 3 ประการ คือ
1.       ความสำคัญต่อบุคคลภายนอก
2.       ความสำคัญในการดำเนินคดี
3.       ความสำคัญในการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
1.       ความสำคัญต่อบุคคลภายนอก   เมื่อกฎหมายตั้งคณะบุคคลให้เป็นนิติบุคคล แล้ว นิติบุคคลนั้นก็จะมีสิทธิและหน้าที่หรือที่เรียกกันว่า ความรับผิดชอบเหมือนบุคคลธรรมดาทุกประการ เพียงแต่มีข้อยกเว้นว่า นอกจากสิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นเฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ในการแสดงออกซึ่งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว จึงต้องมีผู้แทนของนิติบุคคล เป็นผู้แสดงเจตนาของนิติบุคคลต่อบุคคลภายนอก
ความสำคัญของนิติบุคคลจึงอยู่ที่ ผู้แทน ของนิติบุคคลนั้น ดังนั้นบุคคลภายนอกจึงจะต้องรู้ว่าใครเป็นผู้แทนของนิติบุคคลที่จะสามารถแสดงเจตนาของนิติบุคคลนั้นได้
ความรับผิดชอบของนิติบุคคลที่จะพึงมีต่อบุคคลภายนอก นับว่าเป็นกรณีที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจความสัมพันธ์ระว่างนิติบุคคลอันมีต่อบุคคลภายนอกย่อมผูกพันกันมากในทางกฎหมาย เพราะหากไม่เข้าใจหลักกฎหมายในบางเรื่องแล้ว การผูกพันในทางนิติกรรมอาจจะไม่เกิดขึ้นได้ ความผิด พลาดหรือความหลงลืมในการกระทำบางอย่างที่ทำให้ไม่ผูกพันนิติบุคคล อาจจะทำให้บุคคลภายนอกเสียเปรียบได้
2.       ความสำคัญในการดำเนินคดี  นิติบุคคลมีความสำคัญในการเป็นคู่ความในคดีแพ่งเป็นอย่างมากเพราะผู้ที่จะถูกฟ้องหรือฟ้องคดีในศาลได้นั้น  จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังนั้นการทำกิจการที่ยังไม่เป็นนิติบุคคลทำนั้นไม่อาจถูกฟ้องหรือฟ้องคดีทางศาลได้เลย อย่างมากที่สุด ก็ฟ้องได้เพียงบุคคลธรรมดาเท่านั้น
จึงเห็นได้ว่า สิทธิที่จะดำเนินคดีทางศาลมิได้เฉพาะแต่บุคคล ซึ่งหมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเท่านั้น แต่ในกรณีที่จะดำเนินคดีกับคณะบุคคลนั้น จะต้องได้ความว่าคณะบุคคลนั้นได้มีกฎ หมายรับรองหรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นนิติบุคคลแล้ว หากยังไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย่อมไม่อาจจะถูกฟ้องหรือฟ้องคดีเป็นคู่ความในคดีได้ ดังนั้นจะฟ้องคณะบุคคลซึ่งมิใช่นิติบุค คลไม่ได้ ได้แต่ฟ้องบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้รับผิดชอบในคณะบุคคลนั้นเท่านั้น
นอกจากนี้นิติบุคคลก็อาจจะเป็นตัวแทนฟ้องความแทนคนอื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีวัตถุ ประสงค์เป็นตัวแทนฟ้องความก็ได้ เมื่อเรื่องที่ฟ้องความนั้นอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นย่อมเป็นตัวแทนฟ้องความตามที่ได้รับมอบอำนาจได้ แต่ถ้านอกขอบวัตถุประสงค์ของกิจการงานแล้ว ก็ไม่อาจรับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนผู้อื่นได้
3.       ความสำคัญในการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เมื่อนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น มีสิทธิและหน้าที่เช่นบุคคลธรรมดาแล้ว ก็ต้องถือว่านิติบุคคลนั้นสามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ เพราะนิติบุคคลอาจแสวงหาทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นของนิติบุคคลได้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นที่ดินอันเป็นอสังหา ริมทรัพย์ หรือจะเป็นสังหาริมทรัพย์อื่น ต้องถือว่า นิติบุคคลต่าง ๆ สามารถมีกรรมสิทธิ์ได้ทั้งสิ้น
การถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ ไม่จำต้องเขียนไว้ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น แม้นิติบุคคลนั้น ๆ จะไม่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในเรื่องนี้ก็สามารถที่จะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือทรัพย์สินก็ตาม เพราะเป็นไปตามสิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของบุคคลธรรมดา เพื่อให้นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่นั้น ก็ต้องถือว่ามีอำนาจที่จะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้
สภาพของนิติบุคคล :
            ในลักษณะของนิติบุคคลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่จะเป็นนิติบุคคลได้จะต้องเกิดมีคณะบุคคลขึ้นก่อน โดยบุคคลธรรมดาหลาย ๆ คน ได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อประกอบกิจการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นประโยชน์สูงสุดของคนกลุ่มนั้น อันเกิดจากการรวมความคิดและรวมการกระทำ ช่วยกันผลักดันให้งานนั้นสำเร็จไป
            ดังนั้นนิติบุคคลจึงมีสภาพเป็นคณะบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ  ซึ่งกฎหมายให้มีสภาพบุคคลและให้ถือว่าเป็นบุคคลประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้ สภาพของนิติบุคคลจึงไม่อาจจะตั้งขึ้นโดยบุคคลธรรมดาเพียงคนเดียว การรวมกลุ่มกันเป็นคณะบุคคลเพื่อประโยชน์ร่วมกันในสังคมนั้น กฎหมายย่อมสนับสนุนแต่หากเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อไปกระทบความผิดทางอาญา หรือหลอกลวงประชาชนกรณีเช่นนี้กฎหมายย่อมไม่สนับสนุน และจะมีการลงโทษทางอาญา
การตั้งนิติบุคลขึ้นโดยลักษณะตามวัตถุประสงค์ จึงเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องการให้คณะบุคคลนั้นมีแนวความคิดในทางที่ดีและสุจริต เหตุนี้ การก่อตั้งนิติบุคคลขึ้น กฎหมายจึงต้องเข้าไปควบคุม จะก่อตั้งนิติบุคคลที่คณะบุคคลรวมกันขึ้นตามใจชอบไม่ได้ ต้องมีกฎหมายรองรับ ดังความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 
หากคณะบุคคลที่รวมตัวกันนั้น กฎหมายยังไม่รับรองหรือให้ก่อตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว กฎหมายอาจจะยังไม่เชื่อในวัตถุประสงค์ที่รวมตัวกันขึ้นประกอบกิจการงานในทางที่ดีก็ได้ การกระทำของนิติบุคคลนั้นอาจจะเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร
เมื่อกฎหมายยอมรับให้ตั้งคณะบุคคลใดเป็นนิติบุคคลแล้ว นิติบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิและหน้าที่ขึ้นตามกฎหมายเช่นเดียวกัน จะใช้สิทธิและหน้าที่นอกขอบเขตของกฎหมายไม่ได้ โดยสภาพแล้วจึงต้องถือว่า กฎหมายได้เข้าไปควบคุมกิจการของนิติบุคคลให้ปฏิบัติงานแต่ในแง่ที่ดีและสุจริต  กล่าวคือ นิติบุคคลต้องกระทำการเฉพาะในกรอบแห่งวัตถุประสงค์และตามกฎหมายเท่านั้น ดังมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การปฏิบัติงานของนิติบุคคล จึงไม่อาจจะกระทำการนอกเหนือกฎหมายได้เลย อีกทั้งยังไม่อาจจะปฏิบัติงานนอกวัตถุประสงค์อีกด้วย กรอบแห่งการปฏิบัติงานจึงต้องอยู่ในอำนาจของกฎหมายเสมอ
สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลนี้ จะมีสภาพเหมือนบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง นอกจากกิจการบางอย่างคงมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดาที่นิติบุคคลทำไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อคณะนิติบุคคลเป็นนิติบุคคลแล้ว ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายสมมติให้นิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งต่างหากจากบุคคลที่รวมเข้ากัน หรือที่เกี่ยวข้องในกองทรัพย์สินหรือกิจการนั้น ๆ เมื่อกฎหมายกำหนดให้คณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล เสมือนเป็นบุคคลคนหนึ่งแล้ว สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลนั้นจึงกำหนดให้เหมือนกับบุคคลธรรมดา ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  67
ดังนั้นในการที่นิติบุคคลปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์หรือกฎหมายนั้น จึงสามารถทำได้เหมือนบุคคลธรรมดา นอกจากจะเป็นการส่วนตัวของบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะเท่านั้นที่นิติบุคคลทำให้ได้ เพราะนิติบุคคลเป็นเพียงตัวสมมติขึ้นแต่หากไม่เป็นนิติบุคคลแล้วก็ไม่อาจจะกระทำการต่าง ๆ ได้อย่างบุคคลธรรมดา แม้กิจการบางอย่างจะไม่เป็นนิติบุคคล แต่หากมีกฎหมายรับรองฐานะก็อาจจะฟ้องหรือถูกฟ้องคดีได้เช่นกัน เช่น พนักงานสอบสวน เป็นตำแหน่งที่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องผู้ผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาได้เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นบุคคลธรรมดาที่มีกฎหมายระบุฐานะในกฎหมายไว้ ไม่ว่าใครมาครองตำแหน่งนั้นก็อยู่ในฐานะเดียวกันสืบต่อกันไป ในที่สุดทางศาลก็ยอมรับว่าบุคคลธรรมดาอาจทำการในฐานะผู้ครองตำแหน่งหน้าที่นั้นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กฎหมายรองรับถึงสิทธิและหน้าที่ขององค์กรหรือตำแหน่งบางตำแหน่ง ให้มีลักษณะและสภาพคล้ายกับเป็นนิติบุคคลแต่โดยความเป็นจริงแล้ว องค์กรหรือตำแหน่งเหล่านี้ ก็หาเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไม่ คงมีแต่การยอมรับในสิทธิและหน้าที่เพื่อให้เกิดอำนาจเป็นคู่ความในคดีได้เท่านั้น
ความรับผิดชอบของนิติบุคคลในทางคดี :
            ความรับผิดชอบของนิติบุคคลในคดีอาจแบ่งพิจารณาได้ 2 ประเภท คือ
1.       ความรับผิดชอบของนิติบุคคลในทางแพ่ง
2.       ความรับผิดชอบนิติบุคคลในทางอาญา
1.       ความรับผิดชอบของนิติบุคคลในทางแพ่ง  ความรับผิดชอบในทางแพ่งตามที่เข้าใจกันทั่วไปตามกฎหมาย ก็คือเรื่องละเมิดซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าต้องรับผิดชอบเท่าใด เพราะนิติบุคคลนี้ไม่มีชีวิตจิตใจ ซึ่งโดยสภาพแล้วย่อมขาดเจตนาเกี่ยวกับละเมิด ไม่เหมือนกับบุคคลธรรมดาที่สามารถแสดงเจตจาหรือประมาทเลินเล่อในการทำละเมิดได้ การทำละเมิดนั้น ปกติจะต้องอาศัยเจตจาตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ในสภาพที่มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเรื่องละเมิดนั้นจะต้องอาศัยเจตจา ซึ่งหากจะแปลว่านิติบุคคลไม่อาจมีเจตจาได้ จึงไม่ผิดทางละเมิดก็จะไม่ตรงต่อความเป็นจริง และไม่เป็นธรรมต่อสังคม ดังนั้นแม้นิติบุคคลและไม่มีเจตจาหรือจงใจโดยตรงในเรื่องละเมิดนั้น ก็จะต้องรับผิด เช่น นายจ้าง (มาตรา 425) , ตัวการ (427) , ผู้ว่าจ้างทำของ (มาตรา  429) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเห็นว่า นิติบุคคลสามารถที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะละเมิดได้ ไม่มีกฎหมายให้ต้องหลุดพ้นจากความรับผิดชอบแต่อย่างใด
2.       ความรับผิดของนิติบุคคลในทางอาญา   แต่เดิมนั้นการที่นิติบุคคลต้องรีบผิดในทางอาญา กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ชัด คงถือเอาโดยปริยายได้จากกฎหมายบางฉบับว่า นิติบุคคลนั้นกระทำผิดทางอาญาได้ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7
ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว พอจะเห็นได้ว่านิติบุคคลนั้น อาจจะทำผิดทางอาญาและมีการดำเนินคดีทางอาญาได้ด้วย
แต่ในทางปัจจุบันได้มีกฎหมายหลายฉบับบัญญัติไว้ชัดว่า นิติบุคคลนั้นสามารถทำความผิดทางอาญาได้ เช่น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 238 และมาตรา 239 เป็นต้น
ข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ แม้นิติบุคคลจะต้องรับผิดชอบในทางอาญาก็ตาม ผู้แทนของนิติบุคคลที่แสดงเจตนาแทนนิติบุคคลหากมีเจตจาในการกระทำความผิดน้อย ก็ต้องร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลด้วย ดังนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะนิติบุคคลเท่านั้นที่จะกระทำผิดในทางอาญา ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นก็ต้องรับผิดร่วมกันในทางอาญากับนิติบุคลด้วยในลักษณะของตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การก่อตั้งนิติบุคคล :
            การก่อตั้งนิติบุคคลย่อมเหมือนกับการเกิดของบุคคลธรรมดา แตกต่างกันอยู่ว่า การเกิดของบุคคลธรรมดา เป็นไปโดยธรรมชาติ แต่การก่อตั้งนิติบุคคลเป็นไปโดยกฎหมาย การก่อตั้งนิติบุคคลนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 65
            ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการก่อตั้งนิติบุคคลนั้นจะต้องกระทำโดยอาศัยกฎหมายหรือมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้นกฎหมายที่จะให้อำนาจในการก่อตั้งนิติบุคคล จึงมีความสำคัญมาก เพราะการจะก่อตั้งนั้นต้องดูกฎหมายเป็นเรื่อง ๆ ไป และจะต้องทำตามขั้นตอนที่กฎหมายได้กำหนดไว้ หากไม่ทำตามแล้ว นิติบุคคลนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย
            นอกจากนี้การเป็นนิติบุคคลนั้น อาจเกิดขึ้นเพราะมีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้โดยตรงก็ได้ ซึ่งเมื่อองค์กร หรือสถาบันนั้น ๆ ได้ก่อตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็จะเป็นนิติบุคคลขึ้นทันที
            เหตุผลที่สำคัญที่การก่อตั้งเป็นนิติบุคคลจะต้องอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายนั้น ก็เนื่องมา จากกฎหมายต้องการเข้าไปควบคุมดูแล นิติบุคคล เหมือนบุคคลธรรมดาที่กฎหมายจะต้องเข้าไปพิทักษ์รักษา และคุ้มครองตลอดจนควบคุมดูแลให้มีการกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องการรับรองให้รู้ว่ากลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นนั้นมีสภาพเป็นบุคคล มีผู้แทนเข้ามาดำเนินการที่เป็นจิตใจของนิติบุคคลนั้น
ในการก่อตั้งนิติบุคคลนี้จะแยกอธิบายออกเป็น 2 กรณี คือ
1.       นิติบุคคลตั้งขึ้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย
2.       วิธีตั้งนิติบุคคลตามกฎหมาย
1.       นิติบุคคลตั้งขึ้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการตั้งนิติบุคคลนั้นถือเป็นกฎหมายแม่บทและเป็นบทหลักในการก่อตั้งนิติบุคคล ซึ่งก็คือ มาตรา 65
จากบทบัญญัตินี้เอง คำว่า จะมีขึ้นได้ ก็เท่ากับลักษณะของการก่อตั้งนั่นเอง ซึ่งพอจะพิจาณาได้ว่า นิติบุคคลจะก่อตั้งขึ้นได้ด้วยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย 2 ลักษณะ คือ
ก.      การก่อตั้งนิติบุคคลด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข.      การก่อตั้งนิติบุคคลด้วยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายอื่น
ก.      การก่อตั้งนิติบุคคลด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ในเรื่องนี้มาตรา 65 ใช้คำว่า ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้ ย่อมหมายถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง ซึ่งตามหลักแล้ว หากจะดูว่านิติบุคคลจะมีขึ้นนั้นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี้ก่อน เมื่อมีบทบัญญัติให้จัดตั้งนิติบุคคลใดได้แล้ว และปฏิบัติได้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายก็จะทำให้เกิดนิติบุคคลขึ้น
การเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นมีหลายกิจการด้วยกัน เช่น มาตรา 122 ที่กำหนดให้มูลนิธิที่จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล, มาตรา 83 ที่กำหนดให้สมาคมที่จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และมาตรา 1015 ที่กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล เป็นต้น
ในการศึกษาเพื่อที่จะให้รู้ว่านิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีอะไรอีกบ้าง จำเป็นที่จะต้องอ้างบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 เดิมที่ยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีบทเฉพากาล หรือพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์อยู่ โดยบัญญัติให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลอยู่ตามกฎหมายเดิมคงมี ฐานะเป็นนิติบุคคลต่อไป คือ มาตรา 72 ซึ่งบัญญัติว่า จำพวกที่กล่าวต่อไปนี้ ย่อมเป็นนิติบุคคล คือ (1) ทบวงการ เมือง (2) วัดวาอาราม (3) ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว (4) บริษัทจำกัด (5) สมาคม (6) มูลนิธิได้รับอำนาจแล้ว
และมาตรา 73 บัญญัติว่าทบวงการเมืองนั้น คือ กระทรวงและกรมในรัฐบาล เทศาภิบาลปกครองท้องที่และประชาบาลทั้งหลาย
ดังนั้นองค์กรหรือหน่วยงานดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นนิติบุคคลด้วยเช่นกัน ซึ่งในพระราช บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 ยังบังคับให้เป็นนิติบุคคลได้อยู่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 ว่า ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นทบวงการเมืองตามความหมายของมาตรา 72 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัตินี้ คงมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า นิติบุคคลที่เป็นทางการเมือง ตามบรรพ 1 เดิมนั้น ยังคงเป็นนิติบุคลอยู่ต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่หากมีการตั้งทบวงการเมืองขึ้นมาใหม่ จะต้องตั้งโดยกฎหมายนั้นจะต้องระบุด้วยว่าให้ทบวงการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้นเป็นนิติบุคคล ซึ่งหากไม่กำหนดไว้ว่าให้เป็นนิติบุคคล ก็จะไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายใหม่ เพราะตามกฎหมายใหม่ไม่ได้กำหนดไว้เป็นหลักทั่วไปแล้วว่าให้ทบวงการเมืองเป็นนิติบุคคล ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่าในมาตรา 7 กำหนดให้เฉพาะทบวงการเมือง ตามมาตรา 72 เก่าเท่านั้น ที่ยังให้เป็นนิติบุคคลต่อไปตามเดิมเมื่อเป็นเช่นนี้ หน่วยงานตามมาตรา 72 อีกหลายหน่วยงานที่ไม่ใช่ทบวงการเมือง จึงต้องมีบทกฎหมายเฉพาะอีกต่างหากที่กำหนดให้หน่วยงานเหล่านั้นเป็นนิติบุคคล
สำหรับทบวงการเมืองนั้น ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้บัญญัติให้เป็นนิติบุคคลแล้ว ตามมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า ให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ดังนี้
(1)  สำนักนายกรัฐมนตรี
(2)  กระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง
(3)  ทบวงซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวง
(4)  กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง
สำนักงานนายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นกระทรวง
ส่วนราชการตาม (1) (2) (3) และ (4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล
และมาตรา 52 บัญญัติว่า ให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอตั้งขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล
จะเห็นได้ว่า ทบวงการเมืองอันได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม และจังหวัด มีผลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้ว ซึ่งไม่ใช่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกต่อไป นอกจากทบวงการเมืองที่มีอยู่เดิมเท่านั้น 
ข.      การก่อตั้งนิติบุคคลด้วยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายอื่น  การจัดตั้งนิติบุคคลนอกจากจะอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นบททั่วไปแล้ว สามารถที่จะจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยกฎหมายอื่น ๆ หรือพระราชบัญญัติอื่น ๆ อันเป็นกฎหมายเฉพาะอีกได้ ซึ่งกฎหมายเฉพาะนี้ก็คือกฎหมายที่บัญญัติให้คณะบุคคลหรือกิจการที่คณะบุคคลกระทำขึ้น เป็นนิติบุคคล เช่น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (มาตรา 153 บัญญัติให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล) พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 (มาตรา 5 ให้มัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเป็นนิติบุคคล) เป็นต้น
2.       วิธีตั้งนิติบุคคลตามกฎหมาย
ตามกฎหมายได้แบ่งแยกการตั้งนิติบุคคลออกเป็น 2 วิธี ต่างกัน จึงทำให้เกิดผลในกฎหมายบางอย่างต่างกัน วิธีการตั้งนิติบุคคล 2 วิธีนั้น คือ
ก.      ตั้งโดยกฎหมาย
ข.      ตั้งโดยวิธีการของกฎหมาย

ก.      ตั้งโดยกฎหมาย  หมายความว่า กฎหมายได้ บัญญัติให้ก่อตั้งกิจการหรือองค์กรขึ้น เมื่อได้มีการประกอบตั้งตามวิธีการของกฎหมายแล้ว กฎหมายนั้นจะบัญญัติโดยตรงเลยว่า ให้กิจการหรือองค์กรนั้นเป็นนิติบุคคล นิติบุคคลประเภทนี้เรียกว่าเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ซึ่งทำให้กิจการหรือองค์กรนั้นเป็นนิติบุคคลทันทีโดยไม่ต้องมีการทำอะไรอีก
นิติบุคคลประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานของรัฐบาล อันได้แก่ ทบวงการเมือง หรือรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่ทบวงการเมือง ซึ่งจะเป็นนิติบุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ต้องพิสูจน์ด้วยพยานบุคคลอีก
นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายลักษณะนี้มีอยู่มากในปัจจุบัน ซึ่งจะดูได้ตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายที่ตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้น และกฎหมายนั้นจะกำหนดให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นนิติบุคคลไปทีเดียว เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พงศ. 2535 มาตาม 153, การเคหะแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า กคช เมื่อจัดขึ้นเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 เป็นต้น
ข.      ตั้งโดยวิธีการของกฎหมาย  การตั้งนิติบุคคลในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเหมือนกัน แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และในที่สุดจะมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายนั้นแล้ว จึงจะเป็นนิติบุคคล เช่น การตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว จะเป็นนิติบุคคลต่างหาก จากผู้เป็นหุ้นส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 สภาพของนิติบุคคลจำพวกจดทะเบียนแล้ว จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการจดทะเบียน, สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 83 , มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 522
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นวิธีการตั้งนิติบุคคลขึ้นตามกฎหมายอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยจะต้องขออนุญาต หรือจดทะเบียนก่อน จึงจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลได้ ซึ่งผิดกับวิธีการตั้งนิติบุคคลในประการแรก (ข้อ ก) ที่เมื่อเป็นคณะบุคคลแล้ว กฎหมายให้เป็นนิติบุคคล ก็จะเป็นนิติบุคคลโดยกฎหมายทันที่  ไม่ต้องมีการจดทะเบียนหรือขอใบอนุญาตอีก
ผลแตกต่างเกี่ยวกับวิธีตั้งนิติบุคคล :
            ความแตกต่างระหว่างนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย และตั้งขึ้นโดยวิธีการของกฎหมายจะอธิบายได้ดังนี้
            เนื่องมาจากส่วนใหญ่ นิติบุคคล ที่ตั้งโดยกฎหมาย คือมีกฎหมายให้เป็นนิติบุคคลโดยตรงนั้น จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยวิธีการของกฎมายนั้นจะเป็นเรื่องของเอกชน ดังนั้น หากนิติบุคคลใดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจกฎหมายโดยตรง คือ กฎหมายให้เป็นนิติบุคคลโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรอีก เมื่อมีการดำเนินคดีทางศาลนิติบุคคลประเภทนี้ทางอัยการจะรีบว่าต่างแก้ต่างให้ เพราะอัยการเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ขอแผ่นดินให้อยู่แล้ว
            ส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นด้วยวิธีการของกฎหมาย มีการขออนุญาตและจดทะเบียนนั้น หากไม่ใช่เป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณะแล้ว เมื่อต้องดำเนินคดีทางศาลแล้ว จะให้อัยการแก้ต่างให้ไม่ได้
            อย่างไรก็ตาม แม้จะแบ่งแยกการตั้งนิติบุคคลโดยวิธีการของกฎหมายดังกล่าว แต่ผลในการเป็นนิติบุคคลที่มีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลก็เป็นไปตามกฎหมายที่ก่อตั้งนิติบุคคลอย่างเดียวกันด้วย
ภูมิลำเนาของนิติบุคคล :
            บทบัญญัตินี้เป็นบททั่วไปซึ่งใช้บังคับแก่นิติบุคคลทุกประเภท โดยภูมิลำเนานั้นถือว่าเป็นตำแหน่งที่อยู่หรือสำนักของบุคคลโดยนิตินัย หรือโดยกฎหมายกำหนด กล่าวคือ ภูมิลำเนาถือเป็นหลักแห่งความสัมพันธ์ในกฎหมายระหว่างบุคคล กับถิ่นประเทศซึ่งในเรื่องภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 68 และมาตรา 69
            ดังนั้นสถานที่ทีได้บัญญัติไว้ในมาตรา 68 และ มาตรา 69 ย่อมเป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้ทุกแห่ง หากปรากฏว่ามีกิจการของนิติบุคคลได้กระทำลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ในแหล่งต่างๆ ดังกล่าว ถือได้ว่าในแหล่งนั้น เป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้ทั้งสิ้น
            ตามบทบัญญัติดังกล่าวพอจะแบ่งภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้เป็น 3 กรณีคือ
1.       ที่ตั้งสำนักงานใหญ่
2.       ภูมิลำเนาเฉพาะการ
3.       สำนักงานสาขา
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่
นิติบุคคลใดหากมีสำนักงานใหญ่หรือที่ตั้งที่ทำการขึ้นเพียงแห่งเดียว สถานที่นั้นก็เป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้น และแม้จะมีกลุ่มภูมิลำเนาเฉพาะการหรือสำนักงานสาขา สำนักงานใหญ่ก็ยังเป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้นอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลงไป ในกรณีนี้ต้องถือว่านิติบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาหลายแห่งได้ สำนักงานใหญ่จึงถือว่าเป็นภูมิลำเนาถาวร ซึ่งจะกำหนดไว้ตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง หากเป็นกรณีที่ไม่มีข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง นิติบุคคลนั้นตั้งอยู่ที่ใด ที่นั้นก็เป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้น
ดังนั้น โดยหลักแล้วภูมิลำเนาของนิติบุคคลจึงได้แก่ ถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่
อนึ่ง สำนักงานใหญ่ก็ถือว่าเป็นถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการเหมือนกัน หากที่ตั้งที่ทำการนั้นมีแห่งเดียวก็ถือว่านั้นเป็นสำนักงานใหญ่ เป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลนั้น แต่ถ้ามีที่ทำการหลายแห่งทุกแห่งก็เป็นภูมิลำเนาของนิติบุคลได้ทั้งหมด
ภูมิลำเนาเฉพาะการ
การจัดตั้งภูมิลำเนาเฉพาะการเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 68 ในข้อนี้อาจจะเป็นกรณีที่ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งได้กำหนดให้ตั้งที่ทำการหรือเลือกเอาถิ่นใดเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการใดการหนึ่ง ที่นั้นก็เป็นภูมิลำเนาได้ และแม้จะไม่มีข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งไว้ ถ้าได้ตั้งที่ทำการหรือเลือกเอาถิ่นใดเป็นภูมิลำเนา ที่ตั้งที่ทำการหรือถิ่นนั้น ก็เป็นภูมิลำเนาได้
สำนักงานสาขา
นิติบุคคลที่เปิดสำนักงานสาขาที่ตั้งแห่งสำนักงานสาขานั้น ย่อมเป็นภูมิลำเนาด้วย ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติ  มาตรา 69 สำนักงานสาขานี้อาจจะมีอยู่ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งหรือไม่มีก็ได้ แม้จะไม่มีอยู่ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง หากได้ความว่าถิ่นนั้นเป็นที่ตั้งที่ทำการ หรือสำนักงานสาขาแล้ว ก็ย่อมจะเป็นภูมิลำเนาของนิติบุคคลในส่วนกิจการที่ได้กระทำนั้นได้

สัญชาติของนิติบุคคล :
            ในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคลนั้น บางกรณีถือว่ามีความสำคัญตามกฎหมายไทย ที่บัญญัติให้นิติบุคคลหลายแห่งมีฐานะดุจคนต่างด้าว ดังนั้นสัญชาติของนิติบุคคลจึงย่อมมีได้ และอาจถือได้ว่านิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้สัญชาติไทย ส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศนั้น ย่อมเป็นนิติบุคคลซึ่งมีฐานะเป็นคนต่างด้าว
            ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่มีอยู่ในเรื่องนี้ เช่น การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2499 มาตรา 97
            พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 7 ได้บัญญัติถึงสัญชาติของนิติบุคคล โดยบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการขัดแย้งกันในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคล สัญชาติของนิติบุคคลนั้นได้แก่สัญชาติแห่งประเทศซึ่งนิติบุคคลนั้นมีถิ่นที่สำนักงานใหญ่ หรือที่ตั้งทำการแห่งใหญ่
            ดังนั้น การถือสัญชาติของนิติบุคคลนั้นต้องถือว่ามีสัญชาติตามกฎหมายที่ก่อตั้งนิติบุคคลนั้น
การดำเนินงานของนิติบุคคล
            เนื่องจากนิติบุคลเป็นบุคคลสมมติขึ้นจึงต้องให้บุคคลธรรมดา เป็นผู้ดำเนินงานโดยเป็นผู้แสดงเจตนาของนิติบุคคลนั้น ซึ่งเรียกว่า ผู้แทนของนิติบุคคล
            ผู้แทนของนิติบุคคล จะเป็นบุคคลที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นบุคคลที่แสดงเจตนาแทนนิติบุคคลซึ่งถ้าหากอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล แล้วทำให้ผูกพันนิติบุคคลนั้น และจะส่งผลให้นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชอบ ในกรณีที่ผู้แทนของตนได้แสดงเจตนาออกไป
            บุคคลไม่อาจจะกระทำการต่าง ๆ ได้เหมือนบุคคลธรรมดาทุกประการ กิจการบางอย่างบุคคลธรรมดาทำได้ แต่นิติบุคคลทำไม่ได้  เช่น บุคคลธรรมดาทำการสมรสได้ แต่นิติบุคคลไม่สามารถทำการสมรสได้ หรือ บุคคลธรรมดาอาจถูกทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าได้ แต่นิติบุคคลถูกทำไมได้  ดังนั้นวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลย่อมทำได้แต่เฉพาะกิจการนั้น ๆ ไม่อาจทำกิจการอื่นนอก วัตถุประสงค์ได้ เพราะจะเป็นการทำนอกขอบเขตอำนาจของกฎหมาย
สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคล
            นิติบุคคลไม่เหมือนกับบุคคลธรรมดา สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลมีอย่างไร ต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ โดยเริ่มตั้งแต่ตั้งนิติบุคคล วิธีตั้ง โดยต้องให้นิติบุคคลนั้นกำหนดวัตถุประสงค์ของตนขึ้น แล้วดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์นั้น จะดำเนินการอื่นนอกวัตถุประสงค์ไม่ได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลที่กำหนดให้นิติบุคคลทำได้นี้อาจจะกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งก็ได้ กฎหมายก็ดี ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกำหนดวัตถุประสงค์ให้นิติบุคคลสามารถดำเนินงานไปได้ทั้งสิ้น
            ข้อสังเกต วัตถุประสงค์ของนิติบุคคลที่ให้ดำเนินการนั้น มิได้มีเฉพาะในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งเท่านั้น บทบัญญัติของกฎหมายเองก็อาจจะกำหนดวัตถุประสงค์ที่จะให้นิติบุคคลทำการใด ๆ ก็ได้ หากมีกฎหมายให้ทำการใดได้แล้ว แม้ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะไม่ได้เขียนเป็นวัตถุประสงค์ นิติบุคคลนั้นก็ยังดำเนินการไปตามบทกฎหมายที่ให้อำนาจนั้นได้
สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลในการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน
            สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลตามกฎหมาย
            สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา
            สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลตามกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 บัญญัติว่า
นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติ หรือ กำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือ ตราสารจัดตั้ง
จากบทบัญญัตินี้ หมายความว่า นิติบุคคลจะดำเนินการต่าง ๆ ได้ก็ต้องอยู่ภายในกรอบของสิทธิและหน้าที่ซึ่งสิทธิและหน้าที่นี้จะกำหนดขึ้นก็โดยกฎหมายเท่านั้น ตัววัตถุประสงค์ที่ตั้งตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งก็อาศัยอำนาจตามกฎหมายเช่นเดียวกัน และเมื่อกฎหมายได้กำหนดสิทธิและหน้าที่แล้ว การดำเนินงานก็ต้องอยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ด้วย โดยอำนาจหน้าที่นี้เหมือนเป็นวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล การดำเนินงานนิติบุคคลจึงต้องอาศัยวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จะดำเนินงานนอกวัตถุประสงค์ไม่ได้
สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลที่จะสามารถดำเนินงานต่าง ๆ ได้ แบ่งออกเป็น 2 กรณี
1.       สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลที่มีอยู่ตามกฎหมาย
2.       สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลที่มีอยู่ตามวัตถุประสงค์
            สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลที่มีอยู่ตามกฎหมาย
นิติบุคคลจะดำเนินการต่าง ๆ ได้จะต้องอยู่ในขอบของกฎหมาย กฎหมายในที่นี้อาจจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น สมาคม ตามมาตรา 78 บัญญัติว่าเมื่อการกระทำใดๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกัน และมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน 
หรืออาจจะเป็นกฎหมายอื่นก็ได้ เช่น สหกรณ์ ตามความใน พรบ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 4 หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น กิจการใดที่ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็ไม่ใช่สหกรณ์ ไม่มีสิทธิและหน้าที่เป็นสหกรณ์
ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นผู้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลขึ้น และนิติบุคคลจะดำเนินงานได้ต้องกระทำตามข้อจำกัดที่กฎหมายให้ไว้เท่านั้น ดังที่มาตรา 66 บัญญัติไว้ว่า นิติบุคคลย่อมมีสิทธิ และหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น....
สรุป  บทบัญญัติดังกล่าวย่อมชี้ให้เห็นได้ว่า การดำเนินของนิติบุคคลต้องอยู่ในขอบของกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น จะดำเนินงานนอกไปจากสิทธิและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดนี้ไม่ได้ ส่วนกฎหมายที่กำหนดให้สิทธิ และหน้าที่นั้นจะเป็นกฎหมายใดก็ได้ โดยอาจเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี้ หรือตามบัญญัติในกฎหมายอื่น ๆ ก็ได้
1.       สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลที่มีอยู่ตามวัตถุประสงค์
ในข้อนี้หมายความว่านอกจากจะมีกฎหมายกำหนดสิทธิและหน้าที่เป็นแนวทางในการดำเนินงานแล้ว นิติบุคคลยังต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์อีกด้วย คือ จะต้องทำตามทั้งที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ และตามวัตถุประสงค์ด้วย ซึ่งถือเป็นแนวดำเนินงานของนิติบุคคล
ข้อจำกัดสิทธิและหน้าที่มีอยู่ในมาตรา 66 ชื่อว่า นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่...ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังไว้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง
จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า การที่นิติบุคคลจะดำเนินงานได้ นอกจากจะมีกฎหมายเฉพาะแล้ว ยังต้องมีการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ในตัวกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง การดำเนินงานของนิติบุคคล ตามวัตถุประสงค์นี้ เป็นเรื่องสำคัญหากไม่มีกฎหมายหรือให้อำนาจดำเนินการได้ หรือไม่มีวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งแล้ว นิติบุคคลนั้น ก็ไม่อาจดำเนินการได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นมีลักษณะกว้าง คือ แม้ไม่ได้เขียนวัตถุประสงค์ไว้ในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง ก็อาจมองวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ในลักษณะของกฎหมายทั่วไปได้ เพราะหลักกฎหมายทั่วไปนั้น เมื่อบุคคลอันใดกระทำการอันใดขึ้นนั้น ก็ต้องรับผิดในการกระทำของตนนั้น ดังนั้น นิติบุคคลก็เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาในแง่ของหลักกฎหมายทั่วไป เมื่อกระทำการอันใดลงไป เช่น รู้เห็นยินยอมด้วย แม้จะไม่ได้เขียนไว้เป็นวัตถุประสงค์โดยตรง ก็ยังมีการกระทำที่คนธรรมดาทำได้ ซึ่งกฎหมายยอมรับว่า นิติบุคคลทำได้เหมือนกัน เหตุนี้นิติบุคคลจึงต้องรับผิด ในการกระทำของตนที่ได้ทำขึ้นนั้น ๆ
ในบางกฎหมายก็เขียนวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลไว้ชัดเจน แต่บางครั้งก็ไม่ได้เขียนไว้ การที่ไม่ได้เขียนไว้นั้น ต้องเข้าใจความหมายและวัตถุประสงค์และนิติบุคคลนั้นตามหลักธรรมดาทั่วไป เพราะเมื่อตั้งนิติบุคคลขึ้นมา ก็ต้องมีวัตถุประสงค์ด้วย และอาจดูได้ในตราสารจัดตั้ง
2. สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 67 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะมีทั้งเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น
            จะเห็นได้ว่ามาตรานี้มีความเกี่ยวพันกับมาตรา 66 อยู่ ซึ่งมาตรา 67 นี้มีความหมายว่า แม้สิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลจะเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาก็ตาม และสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลนั้น ยังจะต้องอยู่ภายใต้การบังคับกฎหมาย โดยนิติบุคคลยังกระทำการใด ๆ ได้เหมือนบุคคลธรรมดานั้น ต้องอยู่ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งกำหนดไว้ด้วย
            จะเห็นได้ว่ามีอำนาจทำได้ก็เพราะเป็นสิทธิทั่ว ๆ ไปที่บุคคลธรรมดากระทำได้ นิติบุคคลก็ทำได้ ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำได้เฉพาะบุคคลธรรมดากระทำได้เท่านั้น

สิทธิและหน้าที่ซึ่งมีได้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดา
            เช่นสิทธิในชีวิตและร่างกาย ความเป็นอิสระ สิทธิในครอบครัว เหล่านี้ล้วนแต่พึงเป็นได้เฉพาะแต่บุคคลธรรมดา
ผู้แทนนิติบุคคล
            ผู้แทนของนิติบุคคลแบ่งออกเป็น 3 กรณี
1.       การตั้งผู้แทนนิติบุคคล
2.       การดำเนินการของนิติบุคคล
3.       การสิ้นสุดของการเป็นนิติบุคคล
1.       การตั้งผู้แทนนิติบุคคล
ผู้แทนนิติบุคคลจะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือข้อบังคับ หรือตราสารกำหนดไว้  ซึ่งพอจะพิจารณาได้ดังนี้
            จำนวนผู้แทนนิติบุคคลที่จะตั้งขึ้น จำนวนผู้แทนจะมีได้มากน้อยเท่าใดนั้นไม่จำกัด แต่อย่างน้อยต้องมี 1 คน ตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 70 วรรคแรกว่า นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคนทั้งนี้ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้
            การที่กฎหมายใช้คำว่า ต้องมี แสดงถึงการบังคับ เมื่อนิติบุคคลตั้งขึ้นจะต้องตั้งผู้แทนของนิติบุคคลขึ้น จะไม่ตั้งผู้แทนนิติบุคคลเลยไม่ได้
            ผู้แทนนี้ถือเป็นผู้แสดงเจตนาของนิติบุคคล ซึ่งจะรู้ได้ว่านิติบุคคลนั้นได้กระทำการอันใดลงไป ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสองว่า
            ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล
            ผู้แทนที่ตั้งขึ้นเพื่อแสดงเจตนา หรือวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนี้ อาจจะตั้งขึ้นโดยกฎหมายข้อบังคับ หรือ ตราสารจัดตั้งก็ได้ ในกรณีที่เรื่องใดไม่มีข้อบังคับ หรือ ตราสารจัดตั้งนิติบุคคลนั้น จะกำหนดไว้ในกฎหมายว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้นได้ ผู้นั้นก็จะเป็นผู้แทนของนิติบุคคล เพราะผู้นั้นแสดงความประสงค์ของนิติบุคลได้ แต่ในบางครั้งกฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้ใครเป็นผู้แทนของนิติบุคคล ส่วนใหญ่ในกรณีนี้จะเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ในกฎหมายนั้นจะระบุให้ใคร หรือผู้ดำรงตำแหน่งใด เป็นผู้แทนของนิติบุคลนั้น
            การเปลี่ยนตัวผู้แทน ผู้แทนของนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นแล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนตัว หรือจำกัดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 72 ว่า
            ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนของนิติบุคคล หรือ การจำกัดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจของนิติบุคคล ให้มีผลต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งแล้ว แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้   
            จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า การเปลี่ยนตัว การจำกัด หรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้แทนจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง เมื่อกระทำถูกต้องแล้ว ถึงจะมีผลใช้บังคับได้ แต่ถ้ายังไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวไว้แล้ว ผลของกฎหมายของจะยังไม่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ได้ทำไป ก็ไม่กระทบถึงบุคคลภายนอกที่ทำโดยสุจริต กล่าวคือ ไม่รู้ถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องภายใน แต่ถ้าหากบุคคลภายนอกไม่สุจริต คือ รู้ถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว ก็ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้
            การตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราว ในบางครั้งผู้แทนของนิติบุคคลอาจมีตำแหน่งว่างลง ซึ่งอาจจะทำความเสียหายให้แก่นิติบุคคลนั้นได้ กฎหมายจึงให้มีการตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้นิติบุคคลนั้นสามารถดำเนินกิจการไปได้ตลอดรอดฝั่ง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 73 ว่า
            ถ้ามีตำแหน่งว่างลงในจำนวนผู้แทนของนิติบุคคล และมีเหตุอันควรเชื่อว่า การปล่อยตำแหน่งว่างไว้น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้นก็ได้
            มาตรานี้ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการแก้ไข ความขัดข้องของการเป็นผู้แทนนิติบุคคลขึ้นใหม่โดยจะทำให้นิติบุคคลนั้นมีความคล่องตัวขึ้น
            ในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลงนี้ ผู้ทำการในตำแหน่งผู้แทน สามารถแสดงเจตนาของนิติบุคคลนั้น ในนามของผู้แทนไปได้เลย จึงไม่เกิดมีข้อขัดข้องต่าง ๆ เกิดขึ้น เพราะได้มีการแก้ไขปัญหาไว้ในกฎหมายแล้ว    
            จากมาตรา 73 เงื่อนไขในการที่จะตั้งผู้แทนชั่วคราวในเมื่อตำแหน่งผู้แทนนิติบุคคลว่างลงนั้น จึงอยู่ทีว่า และมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปล่อยตำแหน่งว่างว้าน่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ผู้แทนชั่วคราวจะมีได้ต้องมีการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า น่าจะเกิดความเสียหายขึ้นด้วย เพราะถ้าไม่พิสูจน์ข้อนี้ ศาลก็จะไม่ตั้งผู้แทนชั่วคราวให้
            ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาล ขอให้ศาลตั้งผู้แทนชั่วคราวนั้น ตามกฎหมายก็คือผู้มีส่วนได้เสีย และพนักงานอัยการ
            คำว่า ผู้มีส่วนได้เสียนั้นเป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก โดยอาจจะรวมเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอื่น ๆ กับนิติบุคคลนั้น ก็สามารถร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลได้
2.       การดำเนินการของนิติบุคคล
ผู้แทน เป็นผู้ที่แสดงความประสงค์ หรือ แสดงเจตนาของนิติบุคคล ดังนั้นนิติบุคคลจะเคลื่อนไหวได้ก็ต้องอาศัยการดำเนินการของผู้แทนเป็นสำคัญ เนื่องจากนิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติ โดยอำนาจของกฎหมายดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ด้วยตนเองไม่ได้ ต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานโดยผู้แทน
            การดำเนินกิจการตามเสียงข้างมาก ในกรณีที่นิติบุคคลนั้น มีผู้แทนเพียงคนเดียว การดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่แสดงเจตนาของนิติบุคคล ก็ใช้เพียงคนเดียว แต่ถ้ามีกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง กำหนดให้มีผู้แทนได้ หลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลที่จะต้องใช้เสียงข้างมาก หรือ จะกำหนดตามวิธีอื่นตามที่กฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งว่าไว้ก็ได้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 71 บัญญัติว่า
            ในกรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง
            จะเห็นได้ว่าลักษณะของผู้แทน ตามมาตรานี้ ต้องเป็นผู้ที่แสงดความประสงค์ของนิติบุคคลได้ตามกฎหมายหรือข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง ไม่ใช่ผู้แทนอื่น ๆ หรือตัวแทนตามที่เข้าใจกันว่าเป็นเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานในนิติบุคคล เพราะว่าผู้แทนอื่น ๆ หรือ ผู้แทนดังกล่าวนั้นไม่ใช่ผู้แทนของนิติบุคคลตามกฎหมาย
            เมื่อเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของนิติบุคคลไม่ใช่ผู้แทนของนิติบุคคลแล้ว จะเข้ามาร่วมกันแสดงเจตนาของนิติบุคคลนั้นไม่ได้ ถ้านิติบุคคลนั้นมีผู้แสดงเจตนาได้คนเดียว เจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่ผู้แทนก็ไม่สามารถใช้ระบบเสียงข้างมากตามมาตรา 71 นี้ได้
            ดังนั้น ในการบริหารงานนิติบุคคล ที่จะใช้เสียงข้างมาก ตามมาตรา 71 นี้ ได้ จะต้องมีกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง ให้นิติบุคคลนั้นมีผู้แทน หรือผู้แสดงเจตนาของนิติบุคคลได้หลายคน โดยจะต้องเป็นผู้แทนจริง ๆ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น
            ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทน มีทางแก้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74 ว่า
            ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการนั้นไม่ได้
            คำว่าประโยชน์ได้เสีย ตามมาตรานี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เพราะฉะนั้นจึงหมายถึงประโยชน์ได้เสียในทุก ๆ ทางที่จะทำให้ผู้แทน และนิติบุคคลนั้นทั้งได้และทั้งเสียขัดกันแล้ว ผู้แทนนิติบุคคลนั้นก็จะเป็นผู้แทนในการนั้นไม่ได้ จะต้องงดกระทำการในฐานะเป็นผู้แทน
            ผลของมาตรานี้ ก็คือ ถ้าประโยชน์ได้เสียของผู้แทน และนิติบุคคลขัดกัน แล้วผู้แทนรู้อยู่แล้วยังขึ้นไปทำ ย่อมไม่ถูกต้อง และไม่มีกฎหมายสนับสนุน กิจการนั้นก็ย่อมไม่ผูกพันนิติบุคคล เพราะกิจการที่ทำไปนั้น ผู้แทนไม่มีอำนาจทำได้ตามมาตรา 74 ซึ่งเรียกว่า ไม่ได้ทำกิจการนั้นโดยผู้แทน เช่น
            ฎีกา 580 / 2509 บุคคลภายนอกทำการกู้เงินเพื่อเอาไปให้ผู้จัดการซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล และเมื่อกู้เงินแล้วผู้จัดการก็รับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เน้นได้ชัดว่าประโยชน์ได้เสียขัดกัน ผู้จัดการย่อมไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนให้กู้ได้
            อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนได้เสียจะขัดกัน แต่ถ้าผู้แทนได้ทำไปแล้ว และกิจการนั้นนิติบุคคลก็ได้รับเอา กิจการนั้นก็ต้องผูกพันนิติบุคคลนั้นด้วย
            ในกรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลไม่มีอำนาจทำแทนได้ ตามมาตรา 74 นี้อาจจะทำให้นิติบุคคลนั้นขาดผู้แทน หรือ ทำให้ผู้แทนไม่พอตามข้อบังคับ หรือ ตราสารจัดตั้ง เช่นนี้อาจะต้องตั้งผู้แทนเฉพาะการชั่วคราวขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 ว่า
            ถ้ากรณีตามมาตรา 74 เป็นเหตุให้ไม่มีผู้แทนของนิติบุคคล เหลืออยู่ หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เหลืออยู่ไม่พอจะเป็นองค์ประชุมหรือไม่พอจะกระทำการอันนั้นได้ หากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งของนิติบุคคลนั้นมิได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำความในมาตรา 73 มาใช้บังคับเพื่อตั้งผู้แทนเฉพาะการโดยอนุโลม
            จะเห็นได้ว่า มาตรานี้เป็นทางแก้ของกฎหมาย คือ ถ้าข้อกฎหมาย ข้อบังคับ หรือ ตราสารจัดตั้งของนิติบุคคล กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ไม่ต้องตั้งผู้แทนชั่วคราวขึ้น แต่หากไม่ได้กำหนดเอาไว้แล้ว ก็ให้ใช้ทางแก้ตามกฎหมาย คือ ขอให้ศาลตั้งผู้แทนชั่วคราว ตามมาตรา 73 เป็นผู้แทนเฉพาะการได้ ตามการอนุโลมของกฎหมาย
            การดำเนินงานของผู้แทนโดยปราศจากอำนาจ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคสอง บัญญัติว่า
            ถ้าความเสียหายจากบุคคลอื่น เกิดจากการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล บรรดาบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ที่ได้เห็นชอบในการกระทำนั้น หรือได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้น
            การที่จะดูว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ผู้แทนกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์หรือนอกอำนาจหน้าที่นั้น ก็ต้องดูรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลที่มีอยู่ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง และก็ยังต้องดูวัตถุประสงค์โดยทั่ว ๆ ไปด้วย ถ้าทำนอกจากที่กล่าวมานี้ ถือเป็นการกระทำนอกกรอบวัตถุประสงค์
3.       การสิ้นสุดของการเป็นนิติบุคคล
สำหรับเรื่องที่ผู้แทนนิติบุคคลต้องสิ้นสุดลงนี้ จะดูได้จากกฎหมายแล้ว ก็ยังพิจารณาได้จากข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งนิติบุคคลนั้น  ๆ ด้วย
การสิ้นสุดการเป็นผู้แทนตามหลักกฎหมาย เช่น การตาย การสาบสูญ การปลดเกษียณอายุ การปลดออก การไล่ออก การเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เป็นต้น ทำให้การเป็นผู้แทนนั้นสิ้นสุดลงได้
สำหรับการสิ้นสุดลงตามข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งก็แล้วแต่ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง จะกำหนดระยะเวลาการเป็นผู้แทน อาจเป็น 2 ปี หรือ 4 ปีก็ได้ 
แต่กิจการใดที่ทำลงไปเมื่อผู้แทนนั้นสิ้นอำนาจลงไปแล้ว กิจการนั้นย่อมไม่ผูกพันนิติบุคคล ยกเว้น นิติบุคคลนั้นจะยอมรับการกระทำนั้นโดยให้สัตยาบรรณ อาจจะผูกพันได้
ความรับผิดชอบของนิติบุคคลต่อบุคคลภายนอก
            ความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคล
            ในกรณีนี้หากผู้แทนนิติบุคคลได้กระทำการใดลงไป ตามอำนาจหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น นิติบุคคลนั้นก็จะต้องรับผิดนอกเสียจากว่า ไม่ได้อยู่ในขอบของวัตถุประสงค์ หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลนั้น นิติบุคคลก็ไม่ต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 ซึ่งบัญญัติว่า
            ถ้าการกระทำตามหน้าที่ของนิติ หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายนั้น แต่ไม่สูญเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อความเสียหายนั้น
            คำว่า ผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล นี้ ต้องไม่ใช่ ผู้แทนนิติบุคคล จะต้องเป็นบุคคลอื่นในนิติบุคลนั้น ซึ่งพอจะมีอำนาจทำการต่าง ๆ ได้บ้าง เมื่อบุคคลเหล่านั้นได้กระทำตามหน้าที่ย่อมผูกพันนิติบุคคลให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินค้าไหมทดแทน เมื่อเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
            สรุป ผู้แทนนิติบุคคล ผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคล เมื่อได้ทำการในหน้าที่ แล้วไปก่อความเสียหายให้ผู้อื่น นิติบุคคลก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
            นอกจากนี้ มาตรา 76 ยังระบุดีกว่า ถ้านิติบุคคลได้ใช้ค่าสินไหมแก่ผู้อื่นไปแล้ว ก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ด้วยเช่น ฎ 3034 / 2546 กรมที่ดินมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้
            จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้แทน หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลได้ทำไปตามหน้าที่ แล้วไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น นิติบุคคลต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้แทน หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนั้นไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่นิติบุคคลจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล นิติบุคคลไม่ต้องรับผิด เป็นเรื่องของผู้แทน หรือผู้มีอำนาจทำการแทน ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 76 วรรคสอง กรณีนี้บุคคลที่ได้รับความเสียหาย สามารถเรียกให้ผู้แทน หรือ ผู้มีอำนาจทำการแทน รับผิดได้โดยตรง
            แต่กรณีดังกล่าว แม้การกระทำจะอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลก็ตาม แต่ถ้านิติบุคคลนั้นยอมรับเอางานนั้นหรือนิติบุคคลได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ก็ถือเป็นการให้สัตยาบัน คือ การยอมรับว่าเป็นงานของนิติบุคคล นิติบุคคลจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก โดยถือว่าเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของบุคคล
            2 .ความรับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอกโดยอนุโลม
            ความรับผิดที่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนมาใช้ มี 2 กรณี
            ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคล กับผู้แทนของนิติบุคคล ตามหมวด 3 เรื่องหน้าที่และความรับผิดของตัวการตัวตัวแทน มาตรา 815 819 (การจะจำมาใช้ก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป)
            ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลต่อบุคคลภายนอกตามหมวด 4 มาตรา 820 825 (ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป)
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐
            ให้ยกเลิกความในมาตราแห่งประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติและพระราชกำหนดจำนวนเจ็ดสิบหกฉบับ และให้ใช้ความตามที่ปรากฏในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้แทนตามลำดับ ดังต่อไปนี้
ความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล (แก้ไขใหม่)
            ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มี คำวินิจฉัยที่ 12/2555 กรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อกรรมการตามพระ ราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่บัญญัติให้กรรมการต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคล โดยจำเลยในคดีดังกล่าวได้ต่อสู้ว่าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ใช้พิพากษาตนเองนั้น ได้บัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจริง กล่าวคือ โดยปกติในหลักของกฎหมายอาญานั้น โจทก์จะต้องมีภาระการพิสูจน์หรือมีหน้าที่นำสืบความรับผิดในทางอาญาของจำเลยให้ศาลเห็น ดังนั้น โดยผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงมีผลให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับความรับผิด ในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะเดียว กันกับพระราชบัญญัติฉบับอื่นที่มีบทบัญญัติเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติขายตรงฯ อาทิ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ๆ จะมีผลผูกพันแค่เพียงพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยดังที่ได้ระบุไว้ข้างต้นเท่านั้น แต่จะไม่ได้ผูกพันกฎหมายฉบับอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้มีการผลักดันให้เกิดร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลขึ้น เพื่อแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่มีจำนวน 76 ฉบับ แทนที่จะต้องแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายทีละฉบับซึ่งจะเสียเวลามาก ทั้งนี้ข้อความใน กฎหมาย 76 ฉบับดังกล่าว จะถูกแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลให้มีลักษณะ ดังนี้
             ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
            บทบัญญัติข้างต้นหมายความว่าผู้แทนนิติบุคคลจะต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลเฉพาะกรณี ดังนี้
            1. การกระทำความผิดเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำการของกรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคล
            2. กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือ กระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ทั้งนี้ กระทำความ ผิดหลักข้างต้นหมายความว่า กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลที่เป็นผู้สั่งการ หรือกระทำการ หรือเป็นผู้มีหน้าที่แต่ไม่สั่งการหรือกระทำการตามหน้าที่เท่านั้นจึงจะเป็นผู้ต้องรับผิด ไม่ใช่กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลทุกคนจะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่นิติบุคคลกระทำความผิดและหากมีการฟ้องร้องกรรมการให้รับผิดทางอาญา โจทก์จะมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นเป็นผู้สั่งการ หรือมีหน้าที่แต่ไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจึงจะมีความ ผิดตามกฎหมายนั้น ๆ
            ตามที่มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560 ดังกล่าวมีผลต่อแนวทางในการพิจารณาและขั้นตอนในการดำเนินคดีที่ เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลอย่างมีนัยสำคัญ
            โดยมีถ้อยคำตามตัวบทบัญญัติเดิมและตัวบทบัญญัติใหม่ดังนี้ มาตรา 63 (เดิม) ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือนิติบุคคลอื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นความผิดนั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยมาตรา 63 (ใหม่) ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบ ในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้น ไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
            หลักกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลในประเทศไทย กล่าวคือ หลักกฎหมายที่บัญญัติให้ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดในทางอาญาร่วมกับนิติบุคคลนั้น กฎหมายของไทยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
            1. ผู้แทนนิติบุคคลมีความรับผิดเด็ดขาด กล่าวคือ ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดเสมอเมื่อนิติบุคคลนั้นกระทำความผิด โดยไม่มีสิทธิพิสูจน์เป็นอย่างอื่นได้ เช่น มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยว กับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 หรือมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 (ฉบับแรกและฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2525) เป็นต้น ตัวอย่าง ถ้อยคำบทบัญญัติกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลรับผิดเด็ดขาด เช่น มาตรา 25 แห่งพระราช บัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. 2499 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) บัญญัติว่า ในกรณีที่บริษัทจำกัดใดกระทำความผิดตามมาตรา 7 ถึงมาตรา 24 กรรมการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งมีผลให้กรรมการหรือบุคคลผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับผิดทันทีเมื่อนิติบุคคลได้กระทำความผิดตามที่กำหนดไว้สำหรับความรับผิดเด็ดขาด
            2. ผู้แทนนิติบุคคลรับผิดร่วมกับนิติบุคคลโดยข้อสันนิษฐาน กล่าวคือ ผู้แทนนิติบุคคลมีภาระหน้าที่ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน เช่น มาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หรือมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 หรือมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น ตัวอย่างถ้อยคำบทบัญญัติกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลร่วมรับผิดกับนิติบุคคลโดยข้อสันนิษฐานกฎหมายจะบัญญัติในลักษณะดังนี้
            ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
            ดังนั้น กฎหมายจึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลเสมอ ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีความผิดนั้น เป็นการยกภาระการพิสูจน์ให้กับกรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องยากและเป็นการสร้างภาระให้กับกรรมการเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ถ้อยคำตามบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวยังขัดกับหลักกฎหมายอาญาที่ว่าโจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์หรือมีหน้าที่นำสืบจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือ หลักสันนิษฐานความเป็นผู้บริสุทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดี (Presumption of Innocence) โดยการจะพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดและรับโทษทางอาญานั้นต้องมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกฟ้องนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลปราศจากความสงสัยว่าบุคคลนั้นมีความผิดตามที่ฟ้องจริง (beyond reasonable doubt)
            3. ผู้แทนนิติบุคคลรับผิดร่วมกับนิติบุคคลโดยต้องมีการพิสูจน์ว่าผู้แทนนิติบุคคลทำผิด กล่าวคือ โจทก์มีภาระหน้าที่ในพิสูจน์ว่าผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิด ซึ่งเป็นหลักทั่วไปและเป็นหลักที่ถูกต้อง เช่น มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 หรือมาตรา 16 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556 หรือมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 หรือมาตรา 300 แห่งพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดปี 2559) และพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่แก้ไขโดยพระราชบัญ ญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญา ของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560


การสิ้นสภาพนิติบุคคล
            นิติบุคคลอาจสิ้นสภาพไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังนี้
1.       ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง เช่น บริษัทกำหนดเอาไว้ในตราสารจัดตั้งว่า จะดำเนินการจนกว่าจะครบ 10 ปี แล้ว บริษัทนี้ก็ย่อมสิ้นสภาพไป
2.       โดยสมาชิกตกลงเลิก เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วน ด้วยกันไม่สมัครใจจะดำเนินการกันต่อไป ก็ย่อมที่จะแสดงเจตนาเลิกกันไป
3.       เลิกโดยผลของกฎหมาย เช่น ห้างหุ้นส่วนส่วนสามัญ ย่อมเลิกกันเมื่อ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง ตาย หรือ ล้มละลาย ตามมาตรา 1055
4.       โดยคำสั่งของศาลให้เลิก เช่น ศาลอาจสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญเสียก็ได้  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วน คนใดคนหนึ่งร้องขอตามมาตรา 1057
สมาคม
การจดทะเบียนสมาคม :
            1. สมาคมจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลได้ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้กำหนดวิธีการไว้ดังนี้ คือ
2.       ผู้จะเป็นสมาชิกของสมาคมจะต้องไม่น้อยกว่า 3 คน ร่วมกันยืนคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ ที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมจะตั้งขึ้น ซึ่งในกรุงเทพให้ยื่นต่อกองวัฒนธรรม กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนในต่างจังหวัดให้ยื่นต่ออำเภอในท้องที ที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ของสมาคม
3.       แนบข้อบังคับของสมาคมซึ่งต้องมีรายการให้ครบตาม มาตรา 7 รายชื่อ ที่อยู่ และอาชีพของผู้จะเป็นสมาชิก ไม่น้อยกว่า 10 คน และของผู้ที่จะเป็นกรรมการของสมาคมมาพร้อมกับคำขอด้วย
4.       นายทะเบียนรีบจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่สมาคม แต่ก่อนที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้นั้น นายทะเบียนจะต้องดำเนินการตรวจสอบดังนี้ คือ
ก.      คำขอและข้อบังคับถูกต้อง หมายถึง คำขอมีผู้จะเป็นสมาชิกของสมาคมไม่น้อยกว่า 3 คน ร่วมกันยื่นซึ่งก็ต้องลงลายมือชื่อในคำขอด้วย และข้อบังคับที่แนบมานั้นก็ต้องมีรายการครบถ้วน
ข.      วัตถุประสงค์ของสมาคมที่ระบุในข้อบังคับต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ค.      รายการซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือข้อบังคับต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคม
ง.       ผู้ที่จะเป็นกรรมการของสมาคมนั้น ต้องมีฐานะและความประพฤติเหมาะสม ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
เมื่อทำครบตาม 4 ข้อนี้แล้ว ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่สมาคมนั้น แต่หากมีข้อใดข้อหนึ่งไม่ถูกต้อง ยกเว้นข้อ ข. (ในเรื่องวัตถุประสงค์) ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ยืนคำขอจดทะเบียนแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ซึ่งเมื่อได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน และออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่สมาคมนั้น ตามมาตรา 82 วรรค 22
5.       นายทะเบียนดำเนินการลงประกาศการจัดตั้งสมาคมในราชกิจจานุเบกษา
นายทะเบียนมีอำนาจที่จะไม่รับจดทะเบียนสมาคมได้ในกรณีดังนี้
1.       วัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
2.       ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตามคำสั่งของนายทะเบียนให้ถูกต้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งของตนพร้อมทั้งเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนไปยังผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนโดยมิชักช้า
การอุทธรณ์คำสั่ง
            เมื่อนายทะเบียนไม่รีบจดทะเบียนสมาคมให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน สามารถอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนนั้น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนได้รับคำสั่งไม่รับจดทะเบียนสมาคม เมื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับหนังสืออุทธรณ์ โดยให้คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุด
            ข้อสังเกต ระยะเวลา 90 วันนั้นให้นับตั้งแต่วันที่ นายทะเบียนได้รับหนังสืออุทธรณ์ มิใช่นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับหนังสืออุทธรณ์จากนายทะเบียน
ข้อบังคับของสมาคม การแก้ไขเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลงกรรมการ :
·        ข้อบังคับของสมาคม กฎหมายบังคับว่าอย่างน้อยจะต้อมีรายการดังต่อไปนี้ คือ
1.       ชื่อสมาคม
2.       วัตถุประสงค์ของสมาคม
3.       ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และที่ตั้งสำนักงานสาขาทั้งปวง
4.       วิธีรับสมาชิก และการขาดจากสมาชิกภาพ
5.       อัตราค่าบำรุง
6.       ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการของสมาคม
7.       ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการสมาคม การบัญชี และทรัพย์สินของสมาคม
8.       ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
·        วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคม
1.       จะกระทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่
2.       ข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม สมาคมจะต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมนั้นตั้งอยู่ ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ ที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติแล้ว
3.       เมื่อนายทะเบียนรีบจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้มีผลใช้บังคับได้
การแก้ไขเพิ่มเติมนี้ กฎหมายให้นำความในมาตรา 82 มาบังคับใช้โดยอนุโลม หมายความว่า เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับแล้ว ต้องออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมแก่สมาคม และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
·        การเปลี่ยนแปลงสมาคม  ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงโดยแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ทั้งชุด หรือเปลี่ยนแปลงเฉพาะบางคนบางตำแหน่งก็ตาม ก็ต้องทำตามข้อบังคับของสมาคม และสมาคมนั้นต้องนำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมนั้นตั้งอยู่ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีคนแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมนั้น
หากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่มีการนำไปจดทะเบียน ผลก็คือ กรรมการชุดเดิม ยังคงมีอำนาจอยู่
นายทะเบียนมีอำนาจไม่รีบจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการได้ หากเห็นว่ากรรมการผู้นั้นมีฐานะหรือความประพฤติไม่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการของสมาคม เมื่อไม่รีบจดทะเบียน นายทะเบียนจะต้องแจ้งเหตุผลให้สมาคมทราบภายใน 60 วัน นับจากวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการนั้นก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนดังกล่าวได้โยนำความในมาตรา 82 วรรค 4-5 มาบังคับใช้โดยอนุโลม
ในระหว่างที่ยังไม่มีการจดทะเบียนกรรมการสมาคมชุดใหม่ ก็เป็นหน้าที่กรรมการชุดเดิม ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการจดทะเบียนกรรมการสมาคมชุดใหม่ เว้นว่าจะมีข้อบังคับของสมาคมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งถ้ามีก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับนั้น
การบริหารงานของสมาคม
            สมาคมที่จดทะเบียนแล้วถือว่าเป็นนิติบุคคล เพราะฉะนั้นโดยสภาพแล้วจึงไม่อาจจะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมได้โดยลำพัง จึงจำเป็นต้องมีบุคคลเป็นผู้ดำเนินการบริหารกิจการของสมาคม ซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการสมาคม
            คณะกรรมการสมาคมประกอบด้วยบุคคลมากกว่า 1 คนขึ้นไป ซึ่งข้อบังคับของสมาคมจะกำหนดว่า คณะกรรมการประกอบด้วยตำแหน่งใดบ้าง ซึ่งคณะกรรมการสมาคม ก็คือผู้มีอำนาจดำเนินการบริหารกิจการของสมาคมตามกฎหมายและข้อบังคับตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ในฐานะเป็น ผู้แทน ของสมาคมในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่
ข้อสังเกต การดำเนินการของคณะกรรมการสมาคมนอกจากจะต้องทำอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของสมาคมแล้ว ยังต้องให้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ด้วย ซึ่งมติดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์และกฎหมายด้วย
ความเกี่ยวพันระหว่างสมาคมกับบุคคลภายนอก :
            กฎหมายไม่ได้กำหนดถึงความเกี่ยวพันระหว่างสมาคมกับบุคคลภายนอกไว้ ดังนั้นจึงต้องนำมาตรา 76 -773 ซึ่งอยู่ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไปมาบังคับใช้ นั้นก็หมายถึง หากคณะกรรมการสมาคมได้ทำการตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่แล้ว การกระทำนั้นย่อมผูกพันสมาคม แต่สามารถไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ก่อนความเสียหายนั้นได้ หากได้กระทำเกินขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ สมาคมก็ไม่ต้องรับผิดแต่กรรมการผู้ที่เห็นชอบในการกระทำนั้นต้องร่วมกันรับผิดในค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย
            แม้ต่อมาการกระทำของคณะกรรมการสมาคมที่ทำไปภายในขอบวัตถุประสงค์ มีข้อบก พร่องเกี่ยวกับการตั้งหรือคุณสมบัติของคณะกรรมการสมาคม กิจการนั้นก็มีผลสมบูรณ์ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะการตั้งคณะกรรมการเป็นเรื่องภายในสมาคม คนนอกยากที่จะรู้กฎหมายจึงกำหนดให้สมาคมยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาอยู่
ความเกี่ยวพันระหว่างสมาคมกับสมาชิกของสมาคม :
            สมาชิกกับสมาคมมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน พอสรุปได้ดังนี้
1.       สมาชิกมีสิทธิที่จะตรวจกิจการและทรัพย์สินของสมาคม
2.       สมาชิกมีหน้าที่ต้องชำระค่าบำรุงการเป็นสมาชิกของสมาคม
3.       สมาชิกมีสิทธิที่จะลาออกจากสมาคมเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของสมาคมจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
4.       สมาชิกแต่ละคนมีความรับผิดในหนี้ของสมาคมไม่เกินจำนวนค่าบำรุงที่สมาชิกนั้นค้างชำระอยู่
การประชุมใหญ่ :
            การประชุมใหญ่ คือ การประชุมของสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการดำเนินการบริหารงานของสมาคม เพราะคณะกรรมการสมาคมต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่
            ประเภทของประชุมใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.       การประชุมใหญ่สามัญ ซึ่งจะต้องมีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเป็นหน้าที่ของ
คณะกรรมการสมาคมที่ต้องจัดให้มีขึ้น
2.       การประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการจะเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ และจะประชุมกันกี่ครั้งก็ได้ โดยให้อำนาจในการเรียกประชุมเป็นของคณะกรรมการสมาคม นอกจากนี้ กฎหมายยังให้อำนาจสมาชิกในการขอให้เรียกประชุมด้วย ซึ่งจะต้องเป็นในกรณีที่สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 100 คน หรือไม่น้อยกว่าที่กำหนดในข้อบังคับทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการสมาคมโดยระบุว่าเรียกประชุมเพื่อทำอะไร เมื่อได้รับหนังสือแล้วต้องจัดให้มีการประชุมภายใน 30 วัน
การเรียกประชุมใหญ่ของทั้งสองประเภท มี 2 วิธี แล้วแต่จะเลือก ดังนี้
1) หนังสือนัดประชุม ต้องส่งไปยังสมาชิกทุกคนและส่งรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกันด้วย
2) ลงพิมพ์โฆษณา ต้องลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อย 2 ครั้งในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในท้องที่ฉบับหนึ่ง และส่วนของรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้มอบ ณ ที่ที่ผู้เรียนประชุมกำหนด
ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะต้องมีการนัดก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งจะต้องมีการระบุสถานที่ วัน เวลา และระเบียบวาระการประชุมด้วย
การลงมติ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประธาน เว้นแต่ข้อบังคับของสมาคมจะกำหนดเสียงข้างไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งการออกเสียงลงคะแนนนั้น สมาชิกสามารถมอบอำนาจให้สมาชิกคนใดเข้าประชุมและออกคะแนนแทนตนก็ได้ (ผู้ที่จะเข้าประชุมและลงคะแนนเสียงแทนสมาชิกนั้น ผู้รับมอบต้องเป็นสมาชิกของสมาคมด้วยกันเท่านั้น จะมอบให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกไม่ได้) เว้นแต่ข้อบังคับจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกหนึ่งเสียงเพื่อเป็นเสียงชี้ขาด

การเลิกสมาคม :
            การเลิกสมาคม คือ การสิ้นสุดสภาพการเป็นนิติบุคคลของสมาคมซึ่งมีทั้งหมด3 ประการคือ
1.       เลิกโดยผลของกฎหมาย ตามมาตรา 101
2.       เลิกโดยคำสั่งของนายทะเบียน ตามมาตรา 102 เมื่อนายกทะเบียนมีคำสั่งถอนชื่อสมาคมแล้ว จะต้องแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสมาคมนั้นโดยมิชักช้า และประกาศเลิกสมาคมในราชกิจจานุเบกษา โดยกรรมการคนใดคนหนึ่งหรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 3 คน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และให้ถือว่าคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นที่สุด
3.       เลิกโดยคำสั่งศาล ตามมาตรา 104
การชำระบัญชีสมาคม :
            เมื่อมีการเลิกสมาคมไม่ว่าจะเกิดจากกรณีใดก็ตาม จะต้องมีการชำระบัญชีสมาคม ซึ่งการชำระบัญชีนั้นให้นำบทบัญญัติมาตรา  1247-1273 มาบังคับใช้โดยอนุโลม (การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน) เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว หากมีทรัพย์สินเหลืออยู่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ห้ามนำไปแบ่งให้แก่สมาชิกของสมาคม เพราะทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องโอนให้แก่สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสาธารณกุศล ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสมาคม แต่หากไม่ได้ระบุไว้ ก็ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ แต่ถ้าทั้งข้อบังคับและที่ประชุมใหญ่มิได้ระบุไว้ หรือระบุไว้แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่นั้นตกเป็นของแผ่นดิน
การขอตรวจเอกสารเกี่ยวกับสมาคม :
            เอกสารเกี่ยวกับสมาคมที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ถือได้ว่าเป็นเอกสารมหาชน กฎหมายจึงอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถที่จะขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องได้โดย
1.       ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน
2.       เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้วให้นายทะเบียนปฏิบัติตามคำขอ
ผู้รักษาการและอำนาจของผู้รักษาการ :
            กฎหมายบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามบทบัญญัติในเองของสมาคมและให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนกับออกกฎกระทรวงซึ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของสมาคมตามมาตรา 109 (1) (4) ซึ่งเมื่อประกาศกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลบังคับใช้ได้
มูลนิธิ
ลักษณะของมูลนิธิ
            มาตรา 110 เป็นบทบัญญัติซึ่งแสดงความหมายของมูลนิธิเอาไว้ ซึ่งประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1.       ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้เฉพาะ จะเห็นได้ว่า กฎหมายเพ่งเอาตัวทรัพย์สินเป็นสำคัญ ไม่ใช่ตัวบุคคลและคำว่า ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะ นี้หมายความว่า ผู้ก่อตั้งได้จัดมอบทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แก่บุคคลหนึ่งให้จัดการเพื่อสาธารณะประโยชน์ใดโดยเฉพาะเจาะจง อันเป็นวัตถุ ประสงค์ของการจัดตั้งมูลนิธินั้น ๆ
2.       ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้นถ้าตั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทรัพย์สินนั้นไม่เป็นมูลนิธิ
3.       มิได้มุ่งผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หากมีจุดมุ่งหมายและแบ่งปันผลประโยชน์กัน ก็ไม่เป็นมูลนิธิ
4.       ต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
5.       มูลนิธิต้องจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. และเมื่อจดทะเบียนแล้วก็จะเป็นนิติบุคคลตาม มาตรา 122
การก่อตั้งมูลนิธิ
            การก่อตั้งมูลนิธิต้องดำเนินการดังนี้
1.       ต้องมีข้อบังคับของมูลนิธิ ตาม มาตรา 111  ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือ
2.       ข้อบังคับของมูลนิธิอย่างน้อยต้องมีรายการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112
3.       การขอจดทะเบียนมูลนิธิ เมื่อมีข้อบังคับแล้ว ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิต้องยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิจะตั้งขึ้น ในคำขออย่างน้อยต้องระบุเจ้าของทรัพย์สินและรายการทรัพย์สินที่จะจัดสรรสำหรับมูลนิธิ รายชื่อที่อยู่และอาชีพของผู้จะเป็นกรรมการมูลนิธิทุกคน พร้อมแนบข้อบังคับของมูลนิธิมากกับคำขอด้วย ตามมาตรา 114
4.       นายทะเบียนรับจดทะเบียน และออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่มูลนิธินั้น แต่ก่อนที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้นั้น นายทะเบียนจะต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ตาม มาตรา 115 วรรค 1 ก่อน
5.       นายทะเบียนดำเนินการลงประกาศการจัดตั้งมูลนิธิในราชกิจานุเบกษา ตามมาตรา 115 วรรค 1 ตอนท้าย
เมื่อครบ 5 ข้อแล้ว นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่มูลนิธินั้น แต่ถ้ามีข้อใดไม่ถูกต้อง ยกเว้น (3) วัตถุประสงค์ ให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วนายทะเบียนจึงรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่มูลนิธินั้น ตามมาตรา 115 วรรค 2
นายทะเบียนมีอำนาจไม่รับจดทะเบียนมูลนิธิตาม มาตรา 115 วรรค 3 คือ
1)       วัตถุประสงค์ของมูลนิธิไม่เป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ ตาม มาตรา 110 หรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
2)       ผู้ขอจดทะเบียนไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของนายทะเบียน
ถ้าหากนายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน ให้แจ้งเหตุผลต่อผู้ขอจดทะเบียนโดยมิชักช้า ตามมาตรา 115 วรรค 3 ตอนท้าย
การอุทธรณ์คำสั่ง เมื่อนายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนมูลนิธิให้ ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่นายทะเบียนปฏิเสธ ตามมาตรา 115 วรรค 4
เมื่อยื่นแล้วให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับหนังสืออุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุดตามมาตรา 115 วรรค 5

การถอนการจัดตั้งมูลนิธิ
            ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิมีสิทธิขอถอนการจัดตั้งมูลนิธิได้ แต่ต้องก่อนที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียน ตามมาตรา 116 วรรค 1
            ในกรณีที่ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิหลายคน หากคนหนึ่งคนใดใน 3 คน ใช้สิทธิถอนการจัดตั้งมูลนิธิยังผลให้คำขอจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันระงับไปเลย ตามมาตรา 116 วรรค 2 ผลของการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ
1.       มูลนิธิมีฐานะเป็นนิติบุคล ตามมาตรา 122
2.       ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้ตกเป็นของมูลนิธิ ตามมาตรา 121
การบริหารงานของมูลนิธิ
            ต้องมีบุคคลเป็นผู้ดำเนินการบริหารของมูลนิธิ ซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการมูลนิธิ ตามมาตรา 123
            เมื่อคณะกรรมการของมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แทนของมูลนิธิได้กระทำการภายในของวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของมูลนิธิแล้ว การกระทำนั้นย่อมผูกพันมูลนิธิเสมือนหนึ่งว่ามูลนิธิได้กระทำด้วยตนเอง เพราะคณะกรรมการของมูลนิธิเป็นผู้แสดงเจตนาแทนมูลนิธิในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จึงเท่ากับว่ามูลนิธิทำเอง
            นอกจากนี้บรรดากิจการที่คณะกรรมการของมูลนิธิได้กระทำไป แม้จะปรากฏในภายหลังว่ามีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือคุณสมบัติของกรรมการของมูลนิธิ กิจการนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 124
การแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิเฉพาะบางคนก็ตามต้องทำตาม มาตรา 125 ว. 1
1.       ทำตามข้อบังคับของมูลนิธิที่กำหนดไว้
2.       มูลนิธิต้องนำการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงนั้นไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
3.       ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
ถ้านายทะเบียนไม่จดทะเบียนให้ต้องแจ้งเหตุผลให้มูลนิธิทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน  และให้นำมาตรา 115 วรรค 4-5 มาใช้โยอนุโลม ตามมาตรา 125 ว.1
ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่ง และไม่มีกรรมการของมูลนิธิเหลืออยู่ หรือเหลืออยู่แต่ไม่สามารถดำเนินการตามหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่จนกว่านายทะเบียน จะได้รับแจ้งการรับจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิใหม่ เว้นแต่มีข้อบังคับของมูลนิธิกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 125 วรรค 3 นอกจากนี้กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะถูกศาลมีคำสั่งถอดถอนตามมาตรา 128 ก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ ตามมาตรา 125 วรรค 4
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิ ต้องทำตาม มาตรา 126
            แต่ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติมต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 127 ซึ่งเป็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ แต่ถ้าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับในเรื่องอื่น ๆ ก็จะใช้มาตรา 125 วรรค 4

การแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของมูลนิธิได้ก็แต่เฉพาะกรณี 127 ดังนี้
1.       เพื่อให้สามรถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ หรือ
2.       พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุให้วัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้น มีประโยชน์น้อย หรือไม่อาจดำเนินการให้สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิได้ และวัตถุประสงค์ของมูลนิธิที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นใกล้ชนิดกับวัตถุประสงค์เดิมของมูลนิธิ
อำนาจนายทะเบียน
นายทะเบียนมีอำนาจตรวจตรา และควบคุมดูแลการดำเนินกิจการของมูลนิธิให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของมูลนิธิ ดังนั้นนายทะเบียนจะต้องมอบหมายเป็นหนังสือ (จะมอบหมายด้วยวาจาไม่ได้) ซึ่งมีอำนาจตาม มาตรา 128 แต่ในการปฏิบัติดังกล่าว นายทะเบียนต้องแสดงบัตรประจำตัว ถ้าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย นอกจากจะต้องแสดงบัตรประจำตัวแล้ว ยังต้องแสดงหนังสือมอบหมายของนายทะเบียนต่อผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยตามมาตรา 128 วรรค 2

การถอดถอนกรรมการของมูลนิธิหรือคณะกรรมการของมูลนิธิ
-          การถอดถอนกรรมการมูลนิธิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 129 ว.1
-          การถอดถอนคณะกรรมการของมูลนิธิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 129 ว.2
การเลิกมูลนิธิ
            การเลิกมูลนิธิ ก็คือการสิ้นสุดสภาพของการเป็นมูลนิธิซึ่งเลิกได้โดยอาศัยเหตุตามมาตรา 130 คือ
1.       เมื่อมีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
2.       ถ้ามูลนิธิตั้งขึ้นไว้เฉพาะระยะเวลาใด เมื่อสิ้นระยะเวลาสั้น
3.       ถ้ามูลนิธิตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใด และดำเนินการตามวัตถุประสงค์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว
4.       เมื่อมูลนิธินั้นล้มละลายตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่สุดของศาล ตามมาตรา 130 (4) ประกอบกับ มาตรา 132 วรรค 2) ถ้าคดียังไม่ถึงที่สุดมูลนิธิยังไม่เลิก
5.       เมื่อศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เลิกมูลนิธิ ตามมาตรา 131 ประกอบ มาตรา 132 วรรค 2 ซึ่งศาลจะมีคำสั่งเลิกมูลนิธิ เมื่อนายทะเบียน พนักงานอัยการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร้องขอตามมาตรา 131
เมื่อมูลนิธิมีอันต้องเลิกไม่ว่าการณ์ใด เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนต้องดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 132 วรรค 3
การชำระบัญชีมูลนิธิ
            ให้นำบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 22 ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทซึ่งบัญญัติอยู่ในมาตรา 1247-1273 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 133 โดยผู้ชำระบัญชีต้องเสนอรายงานต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนเป็นผู้อนุมัติ ตามมาตรา 133 ตอนท้าย
            เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว ให้โอนทรัพย์สินของมูลนิธิแก่มูลนิธิ หรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณประโยชน์ซึ่งระบุเอาไว้ในข้อบังคับของมูลนิธิ ถ้ามิได้ระบุชื่อไว้ พนักงานอัยการ ผู้ชำระบัญชี หรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาล ให้จัดสรรทรัพย์สินแก่มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่ปรากฏว่า มีวัตถุประสงค์ใกล้ชิดที่สุดกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นได้ ตามมาตรา 134 วรรค 1
            แต่ถ้ามูลนิธิถูกศาลสั่งให้เลิก เพราะวัตถุประสงค์ของมูลนิธิขัดต่อกฎหมาย ตามมาตรา 131 (1) หรือ (2) หรือ การจัดสรรทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิ หรือนิติบุคคลดังกล่าวไม่ได้ ก็ให้ทรัยพ์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 134 วรรค 2
การขอตรวจเอกสารเกี่ยวกับมูลนิธิ ตามมาตรา 135
            เป็นไปในทำนองเดียวกับของสมาคม
ผู้รักษาการและอำนาจของผู้รักษาการ
            กฎหมายบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามบทบัญญัติในส่วนที่ 3 มูลนิธิ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนกับการออกกฎกระทรวงตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 136