หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

คำแนะนำในการแต่งตั้งทนายความ



คำแนะนำ 10 ประการในการแต่งตั้งทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย

1. ขอดูใบอนุญาตทนายความหรือบัตรประจำตัวที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ประกอบอาชีพทนายความต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาทนายความเท่านั้น
2. ถามทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายว่า มีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไรหรือเคยทำงานให้กับบุคคลที่จะเป็นคู่ความกับตนหรือไม่ เพราะหากมีการแต่งตั้งให้เป็นทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายแล้วทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายบางคนอาจจะมีผลประโยชน์ขัดกันในการทำหน้าที่เป็นทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ลูกความ
3. สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในคดีและค่าทนายความเนื่องจากทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายมีวิธีการเรียกค่าใช้จ่ายและค่าทนายความไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยทั่วไปทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายจะขอให้ลูกความเล่าเรื่องย่อแล้วจะให้ความเห็นและแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายก่อน จึงจะกำหนดค่าใช้จ่ายและค่าทนายความ ซึ่งควรสอบถามรายละเอียดหรือข้อสงสัยเพื่อให้ทนายความอธิบายให้ชัดแจ้งด้วย
4. เมื่อได้สอบถามปัญหาต่างๆ จนเป็นที่พอใจว่า จะว่าจ้างทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายคนดังกล่าวแล้ว ก็ควรส่งมอบข้อมูลคดีให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายดำเนินการ โดยให้ทำหลักฐานการรับเอกสารไว้ด้วย
5. ควรขอให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายทำหนังสือสัญญาว่าความให้ละเอียดถูกต้องตามที่ได้เจรจากันมา หากมีข้อความในหนังสือสัญญาข้อใดไม่ชัดเจน ก็ขอให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายชี้แจงและขยายความเพื่อมิให้เป็นปัญหาในภายหลัง
6. ควรเก็บสำเนาเอกสารที่ส่งมอบให้แก่ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายตลอดจนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีให้เป็นหมวดหมู่เพื่อประโยชน์ในการค้นหาและติดตามคดี
7. ควรติดตามผลคดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้มอบหมายให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายดำเนินการแล้วก็ตาม เพราะผลดีหรือผลเสียแห่งคดีย่อมต้องตกแก่ตัวลูกความเพียงฝ่ายเดียว โดยให้บันทึกหมายเลขคดีดำและชื่อศาลไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
8. หากคู่ความฝ่ายตรงข้ามติดต่อมาหรือมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม ต้องรีบแจ้งให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายทราบทันทีเพราะอาจจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี
9. เมื่อมีปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับคดี ให้รีบสอบถามหรือขอคำอธิบายจากทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายทันที เพราะปัญหาข้อข้องใจดังกล่าวอาจทำให้ผลของคดีได้รับความเสียหายหรือกลายเป็นปัญหาใหญ่ติดตามมาก็ได้
10. ค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่ชำระให้แก่ศาล ศาลจะออกใบเสร็จรับเงินให้ทุกครั้ง หากมีข้อสงสัยควรตรวจสอบใบเสร็จรับเงินจากทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายหากในใบแต่งทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายกำ หนดให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายมีอำนาจรับเงินจากศาลและคู่ความยังไม่ได้รับเงิน คู่ความควรตรวจสอบจากทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายและศาลว่ามีการรับเงินแทนแล้วหรือไม่