หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

เมื่อต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ



เมื่อต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ

          ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายและบริการช่วยเหลือประชาชน สถานีตำรวจจึงต้องจัดบริการหรืออำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาขนและเป็นที่กักขังชั่วคราวของผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยกระทำผิด
          แม้โดยภาพลักษณ์ของตำรวจบางส่วนจะทำให้คนทั่วไปไม่ใคร่อยากข้องเกี่ยวกับสถานีตำรวจมากนัก แต่ในบางครั้งอาจมีเหตุให้ต้องติดต่อสถานีตำรวจในเรื่องการแจ้งความที่เกี่ยวข้องกับสิทธิใน ชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน หรือการต้องทำกิจกรรมต่างที่กฎหมายกำหนดให้ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ประชาชนควรต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อต้องติดต่อสถานีตำรวจ ทั้งนี้จำแนกหัวข้อที่ควรต้องรู้ไว้ดังนี้
          1. เอกสารที่ต้องนำติดตัวไป
          2. การขออนุญาตต่างๆ
          3. การแจ้งความในเรื่องต่างๆ
เอกสารสำคัญที่ต้องนำติดตัวไป
          1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง (Passport) สำหรับชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ
          2. สำเนาทะเบียนบ้าน
          3. ในกรณีร้องทุกข์ (แจ้งความ) โดยเป็นตัวแทนของผู้อื่น ให้นำหลักฐานติดตัวไปด้วย คือ
                   - ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์หรือ
                   - ใบสำคัญแสดงการเป็นผู้อนุบาลของผู้ไร้ความสามารถ (ตามคำสั่งศาล)
                   -  ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ให้นำหลักฐาน ซึ่งแสดงว่าเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานหรือสามีหรือภรรยา (ซึ่งได้จดทะเบียน, สูติบัตร, ใบทะเบียนสมรสฯลฯ) มาแสดงต่อเจ้าหน้า ที่ตำรวจ
                   - ใบสำคัญแสดงการอนุญาตของสามีหรือภรรยา แล้วแต่กรณีให้ร้องทุกข์แทนหรือเป็นตัวแทนโดยสมบูรณ์
                   - ในกรณีที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคล ให้นำหนังสือมอบอำนาจของนิติบุคคลเป็นหลักฐาน รวมทั้งติดอากรแสตมป์ 5 บาทและหนังสือรับรองนิติบุคคลนั้นของกระทรวงพาณิชย์

คำแนะนำในการขออนุญาตต่างๆ
การขออนุญาตแสดงมหรสพชั่วคราว
           - กรุงเทพมหานคร : ยื่นคำร้องต่อสถานี ตำรวจท้องที่ที่แสดงมหรสพ
           - ต่างจังหวัด : 1) ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ นายอำเภอเป็นผู้อนุญาต 2) เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ทางอำเภอจะแจ้งให้ตำรวจท้องที่ทราบ 3) ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของสถานที่ที่จัดมหรสพ 4) ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วย (ถ้ามี) 5) เลิกแสดงมหรสพไม่เกินเวลา24.00 น.
การขออนุญาตจุดดอกไม้เพลิง
          - กรุงเทพมหานคร : ยื่นคำร้องที่สถาน ตำรวจท้องที่เพื่อเสนอเรื่องตามลำดับชั้นให้ผู้บัญชาการ ตำรวจนครบาลเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
          - ต่างจังหวัด : ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที
การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.3 และ ป.4) การขอรับโอนมรดกอาวุธปืน)
          - กรุงเทพมหานคร :ยื่นคำร้องที่ศูนย์บริการประชาชน วังไชยา กรมการปกครอง ถนนนครสวรรค์เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 งานอาวุธปืน โทร. 0 2356 9500 4
           - ต่างจังหวัด : ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ ทางอำเภอยื่นเรื่องต่อไปยังจังหวัด
การขออนุญาตแสดงมหรสพงิ้ว
          - กรุงเทพมหานคร : ยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจท้องที่พร้อมบทประพันธ์เครื่องแต่งกาย แผนผัง สถานที่ และคำยินยอมของเจ้าของสถานที่เสนอเรื่องตามลำดับชั้นให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
          - ต่างจังหวัด : ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่พร้อมบทประพันธ์ เครื่องแต่งกาย แผนผังสถานที่ และคำยินยอมของเจ้าของสถานที่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
          นำคำร้องขอใช้เครื่องขยายเสียงจากเขต (กรุงเทพมหานคร) หรืออำเภอ (ต่างจังหวัด) แล้วนำมายื่นต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ เพื่อพิจารณามีความเห็นก่อน แล้วนำกลับไปยังเขตหรืออำเภอเพื่ออนุญาตต่อไป
การขออนุญาตเล่นการพนันประเภทต่างๆ
          - กรุงเทพมหานคร : ยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจท้องที่พร้อมทั้งวาดแผนผังบริเวณที่มีการเล่น การพนัน
          - ต่างจังหวัด : ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ พร้อมทั้งวาดแผนผังบริเวณบ้านที่เล่นการพนันนายอำเภอเป็นผู้อนุญาต

คำแนะนำในการแจ้งความต่างๆ
สถานที่แจ้งความ       
          หลายท่านอาจเคยสงสัยว่าควรแจ้งความที่ใด เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นและตำรวจท้องที่ไม่ยอมรับ
แจ้ง โดยอ้างเหตุว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนได้หรือไม่ หลายครั้งเป็นการอ้างปัดงานโดยมิชอบตามหลักกฎหมาย
          การแจ้งความเป็นกระบวนการยุติธรรมเริ่มต้นในการบอกกล่าวความผิดของคนร้ายแก่ตำรวจ
ตามที่ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 กำหนดอำนาจสอบสวนของตำรวจไว้ โดยให้ข้าราช การตำรวจมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไปมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ ซึ่งหมายความว่าเมื่อบุคคลใดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจใด พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาก่อนว่า เหตุร้ายเกิดในเขต เชื่อว่าเกิดในเขตนั้น หรือผู้เสียหายอ้างว่าเกิดในเขตนั้น หรือผู้ต้องหาอาศัยในเขตนั้น หรือถูกจับในเขตนั้น ถ้าเข้าองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีอำนาจรับแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไปได้เลย
          ส่วนกรณีที่เหตุร้ายเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องหลายท้องที่หรือไม่อาจทราบได้ว่าเกิดเหตุในท้องที่ใดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องอำนาจรับแจ้งความนี้ไว้เช่นกัน ตามที่บัญญัติมาตรา 19 ว่า พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดซึ่งเกี่ยวข้องกับคดี ย่อมมีอำนาจสอบสวนได้หากมีกรณีต่อไปนี้ คือ
          1. เป็นการไม่แน่ว่าการทำผิดอาญาได้ทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
          2. เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
          3. เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
          4. เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างกัน
          5. เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง
          6. เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
          ดังนั้นหากมีเหตุร้ายที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น เช่น เกิดเหตุร้ายบนรถเมล์ รถไฟ ล่อลวงข้ามหลายเขต ปล้นทรัพย์หลายท้องที่โดยโจรกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น ผู้เสียหายพบหรือรู้ตัวว่าเกิดความผิดขึ้น
ในท้องที่ใด สามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจนั้นได้ทันที ตำรวจไม่มีข้ออ้างปัดหน้าที่ของตนได้
          ตัวอย่างเช่น เกิดการข่มขืนบนรถไฟขณะเดินทางไปภาคใต้ เมื่อผู้เสียหายมาแจ้งความกับตำรวจที่กรุงเทพฯ กลับถูกปฏิเสธโดยอ้างว่า ผู้เสียหายไม่อาจบอกได้ว่าถูกข่มขืนที่จังหวัดใด เพราะต้องไปแจ้งความในท้องที่ซึ่งเกิดเหตุข่มขืนเท่านั้น ทางกรุงเทพฯจึงไม่รับแจ้งความคดีนี้ กรณีเช่นนี้ตามหลักกฎหมายแล้วเมื่อมีเหตุร้ายขณะผู้เสียหายกำลังเดินทางด้วยรถไฟ หรือไม่อาจทราบว่าการข่มขืนเกิดในจังหวัดใดแน่นอน เมื่อมาแจ้งความที่กรุงเทพฯ ตำรวจต้องรับเรื่องไว้สอบสวนคดีทันที เพราะเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้เสียหายซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ถ้าตำรวจปฏิเสธ ก็จะมีความผิดทางวินัย และกฎหมายอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
          อีกข้ออ้างหนึ่งซึ่งมักได้ยินตำรวจกล่าวเสมอกรณีผู้เสียหายไม่รู้ว่าเกิดเรื่องในท้องที่ใด คือไม่อยู่ในความรับผิดชอบของตนนั้น ตามหลักกฎหมายของความผิดเกี่ยวเนื่องหลายท้องที่นั้นได้กำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนไว้ดังนี้
          1. ถ้าจับผู้ต้องหาได้ ผู้รับผิดชอบในคดีคือพนักงานสอบสวนในท้องที่ซึ่งจับได้
          2. ถ้าจับผู้ต้องหาไม่ได้ ผู้รับผิดชอบคดีคือพนักงานสอบสวนในท้องที่ซึ่งพบการกระทำผิดก่อน
          ไม่ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นที่ใด ตำรวจทุกท้องที่ซึ่งผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดมีอำนาจสอบสวนเบื้องต้นก่อนเสมอ จากนั้นก็จะประสานส่งสำนวนทั้งหมดไปยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายของคดีนั้น หากพิจารณาภายหลังได้ว่ามิได้อยู่ในอำนาจของตน ซึ่งจะเป็นไปตามหลักกฎหมายข้างต้น ดังนั้นถ้ามีการปฏิเสธไม่ยอมรับแจ้งความโดยมิใช่เหตุผลตามกฎหมาย ผู้เสีย หายอาจร้องเรียนพฤติกรรมดังกล่าวไปให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัยหรือฟ้องคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้อีกด้วย
แจ้งความเอกสารสำคัญหาย
          การแจ้งความเอกสารสำคัญหายเช่น ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์, จักรยานยนต์, โฉนดที่ดิน, ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ฯลฯ มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
          1. ยื่นคำร้องแจ้งว่าเอกสารดังกล่าวหายต่อสถานีตำรวจท้องที่ที่หาย
          2. เจ้าพนักงานตำรวจจะสอบสวนว่า หายจริงหรือไม่แล้วลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
          3. เจ้าพนักงานตำรวจจะออกหลักฐาน การแจ้งความเอกสารหายเพื่อให้ท่านนำไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
แจ้งความคนหาย
          การแจ้งความคนหาย สามารถแจ้งได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องรอเวลาให้ครบ 24 ชั่วโมง หลักฐานที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากที่ทราบว่าหาย คือ
          1. บัตรประจำตัวผู้หาย (ถ้ามี) (2) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้หาย (ถ้ามี)
          3. ภาพถ่ายคนหาย (ภาพถ่ายที่เป็นปัจจุบัน)
          4. ใบสำคัญทางราชการ เช่น ใบเกิด, ใบสำคัญทหาร (ใบกองเกิน, กองหนุน) (ถ้ามี)
          ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา โทร. 08 0775 2673
แจ้งความรถหรือเรือหาย
          แจ้งทาง191 หรือแจ้ง1192 แล้วจึงนำหลักฐาน ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือ
          1. ใบทะเบียนรถยนต์รถจักรยานยนต์ เรือ หรือพาหนะอื่น ๆ ที่หาย
          2. ใบเสร็จรับเงินหรือสัญญาซื้อขายเท่าที่มี
          3. ถ้ายานพาหนะดังกล่าวเป็นของนิติบุคคล เป็นตัวแทนห้างร้าน บริษัท ผู้ไปแจ้งความควรมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของหรือผู้จัดการของห้างร้าน บริษัท นั้นๆ รวมทั้งหนังสือรับรองบริษัทไปด้วย
          4. หนังสือเกี่ยวกับการติดต่อหรือเอกสารที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานได้ (ถ้ามี)
          5. หนังสือคู่มือประจำตัวรถ หรือยานพาหนะ (เรือ) ที่ทางบริษัทห้างร้านจ่ายให้เป็นคู่มือ ถ้าไม่มีหนังสือคู่มือรถให้จำยี่ห้อสีแบบ หมายเลขประจำเครื่องและตัวรถไปด้วย (ถ้ามี) 1.6 แจ้งความอาวุธปืนหาย (1) ทะเบียนใบอนุญาตอาวุธปืน (2) ใบเสร็จรับเงินที่บริษัทห้างร้านขายปืน ออกให้ (ถ้ามี)
แจ้งความทรัพย์สินหาย
          1. ใบเสร็จรับเงินซื้อขายหรือหลักฐานการแสดงการซื้อขายทรัพย์สินนั้น
          2. รูปพรรณทรัพย์สินนั้น ๆ เช่น หมายเลข เครื่อง ฯลฯ (ถ้ามี)
          3. ตำหนิหรือลักษณะพิเศษต่าง ๆ
          4. เอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่มี
          ในกรณีลักทรัพย์ในบ้านเรือนหรือสำนักงาน ให้รักษาร่องรอยหลักฐานในที่เกิดเหตุไว้อย่าให้ผู้ใด เข้าไปแตะต้องหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของในที่เกิดเหตุจนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปถึง
แจ้งความถูกฉ้อโกงทรัพย์
          1. หนังสือหรือหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถูกฉ้อโกง
          2. หลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของหรือ ผู้ครอบครองทรัพย์
แจ้งความถูกยักยอกทรัพย์
          1. หนังสือสำคัญหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้มีการมอบหมายทรัพย์ให้ไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
          2. ใบสำคัญแสดงการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
          3. สำเนาหรือคำสั่งศาลหรือพินัยกรรม ในกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตาม คำสั่งของศาลหรือพินัยกรรม
แจ้งความถูกยักยอกทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเช่าซื้อ
          1. สัญญาใบเช่าซื้อหรือสำเนาหรือใบสำคัญติดต่อซื้อ ขาย เช่า ยืม หรือฝาก
          2. ใบสำคัญที่บริษัทห้างร้านออกให้ โดยระบุรูปพรรณ ยี่ห้อสีขนาด น้ำหนักและเลขหมายประจำตัวทรัพย์นั้น
แจ้งความทำให้เสียทรัพย์
          1. หลักฐานต่าง ๆ แสดงการเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้น
          2. หลักฐานหรือสิ่งของที่เสียหายเท่าที่มีหรือเท่าที่นำไปได้
          3. หากเป็นของใหญ่โตหรือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ซึ่งไม่สามารถนำติดตัวไปได้ให้เก็บรักษา ไว้อย่าให้เกิดการเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม หรือจัดให้คน เฝ้ารักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป
แจ้งความพรากผู้เยาว์
          1. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เยาว์
          2. ใบเกิดของผู้เยาว์ (สูติบัตร)
          3. รูปถ่ายของผู้เยาว์
          4. หลักฐานสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับผู้เยาว์ (ถ้ามี)
แจ้งความถูกข่มขืนกระทำชำเรา
          1. เสื้อผ้าของผู้ที่ถูกข่มขืนฯ ซึ่งมีคราบอสุจิหรือรอยเปื้อนอย่างอื่นอันเกิดจากการข่มขืนและ สิ่งของต่างๆ ของผู้ต้องหาที่ตกอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ
          2. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เสียหาย
          3. รูปถ่าย หรือที่อยู่ของผู้ต้องสงสัย ตลอดจนหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี)
แจ้งความถูกทำร้ายร่างกายและเหตุฆ่าคนตาย
          1. ให้ดูแลรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้อย่าให้ผู้ใดเข้าไปแตะต้องหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ในที่ เกิดเหตุจนกว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุ
          2. เมื่อพบ มีดไม้ปืน ของมีคม หรืออาวุธ ที่คนร้ายทิ้งไว้ในสถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนพยาน หลักฐานต่างๆ ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุหากปล่อยทิ้งไว้จะสูญหายหรือเสียหายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนำมามอบเจ้าหน้าที่ตำรวจ
          3. รายละเอียดต่างๆเท่าที่สามารถบอกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบ
แจ้งความจ่ายเช็คโดยไม่มีเงิน
          1. เช็คที่ยึดไว้
          2. หนังสือที่ธนาคารแจ้งขัดข้องหรือปฏิเสธการจ่ายเงิน

          3. หลักฐานหรือเอกสารซึ่งเป็นมูลหนี้แหล่ง ที่มาของการจ่ายเช็ค เช่น หนังสือสัญญาซื้อขาย ฯลฯ