หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

การผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหา

ระยะเวลาผัดฟ้อง ฝากขัง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
            "มาตรา ๘๗   ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
            ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
            ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
            ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปีหรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
            ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน"
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๕๖
          "มาตรา ๗ ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
          ในกรณีที่ไม่มีการจับแต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมกับสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
          ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
          เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวันแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว"
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐
           "มาตรา ๘ เมื่อมีการร้องทุกข์ภายในอายุความตามมาตรา ๗ แล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็วและส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่หากมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจยื่นฟ้องได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ขอผัดฟ้องต่อศาลได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสามคราวโดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม
          ในกรณีที่การกระทำความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามกฎหมายอื่น ให้ดำเนินคดีความผิดตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง ต่อศาลรวมไปกับความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น เว้นแต่ความผิดตามกฎหมายอื่นนั้นมีอัตราโทษสูงกว่าให้ดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น โดยให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓
          "มาตรา ๗๒   ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที ทั้งนี้ ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนมาศาลเข้าในกำหนดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนั้นด้วย
          ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคล หรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และบุคคลหรือองค์การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ พนักงานสอบสวนอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้แก่บุคคลดังกล่าวไปปกครองดูแล และสั่งให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนภายหลังถูกจับ
          ในกรณีเช่นว่านี้ หากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเด็กหรือเยาวชนจะไม่ไปศาล พนักงานสอบสวนจะเรียกประกันจากบุคคลดังกล่าวตามควรแก่กรณีก็ได้
          บทบัญญัติมาตรานี้มิให้นำไปใช้บังคับในคดีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีอาจเปรียบเทียบปรับได้"
           "มาตรา ๗๘ เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง
          ให้พนักงานสอบสวน รีบดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม หรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี
          -  ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
          -  ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก โดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในกรณีเช่นว่านี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองครั้ง
พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘
          "มาตรา ๔๕ วิธีพิจารณาความอาญาทหาร ให้นำกฎหมาย กฎและข้อบังคับซึ่งออกตามกฎหมายฝ่ายทหารมาใช้บังคับ ถ้าไม่มีกฎหมาย กฎและข้อบังคับฝ่ายทหารก็ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ โดยอนุโลม ถ้าวิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่จะใช้ได้"
สิทธิผู้ต้องหาเมื่อมีการฝากขังหรือผัดฟ้อง
          เมื่อมีการฝากขังหรือผัดฟ้อง ผู้ต้องหามีสิทธิดังนี้
          แถลงคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่ขอฝากขัง หรือ ผัดฟ้อง
          ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล หากศาลอนุญาตให้ขังตามที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการร้องขอ
          ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจกศาล ผู้ต้องหาต้องมาศาลทุกครั้งที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังต่อ และผู้ประกันอาจยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อไปโดยให้ถือหลักทรัพย์และสัญญาเดิม
ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการสอบถามผู้ต้องหาหรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ (อ่าน)

ศาลจังหวัดภูเก็ตไต่สวนคำร้องขอออกหมายจับ หมายค้น และฝากขัง ในลักษณะการประชุมทางจอภาพ (อ่าน)
ระเบียบศาลแขวงนครราชสีมาว่าด้วยการผัดฟ้องและฝากขังทางไกลผ่านจอภาพ พ.ศ. ๒๕๖๓ (อ่าน)