หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

การประกันตัวในชั้นศาล


การประกันตัวในชั้นศาลมี 2 ช่วง
ช่วงแรกเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขังซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว ช่วงที่ 2 คือช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์แล้ว ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลยแล้วซึ่งอาจต้องมีการถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล ดังนี้ หากผู้ประกันประสงค์จะขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยก็จะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาแล้วแต่กรณีต่อศาลกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ประกันมีดังนี้ (ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว)

 ชั้นสอบสวน มีกำหนดเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังจนถึงมีการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี

ชั้นพิจารณาของศาล สัญญาประกันใช้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ขั้นตอนการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

            1. ขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล

            2. เขียนคำร้องขอประกันตัวได้เอง โดยขอคำแนะนำหรือดูตัวอย่างได้จาก      

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หากผู้ขอประกันเขียนหนังสือไม่ได้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะช่วยเขียนให้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแต่ประการใด

          3. ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อในคำร้องขอประกันตัว หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมิได้ถูกขังอยู่ที่ศาลเป็นหน้าที่ของนายประกันที่จะต้องนำคำร้องไปให้จำเลยหรือผู้ต้องหาลงชื่อ

          4. นายประกันยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักฐานต่างๆที่เจ้าหน้าที่ประชา สัมพันธ์

          5. เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ตรวจคำร้องและหลักฐานเรียบร้อยแล้วจะลง

บัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐานแล้ว นำเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้อง      เมื่อผู้พิพากษาสั่งคำร้องแล้วจะส่งคำร้องขอประกันกลับคืนไปที่เจ้าหน้าที่ประชาสัม พันธ์

          6. เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะแจ้งคำสั่งของศาลให้นายประกันทราบ

          7. หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน นายประกันอาจต้องวางเงินประกันค่าใช้ จ่ายในการบังคับคดี โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับหลักฐานการขอประกันและใบรับเงินให้

          8. เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันแล้ว ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัว

อยู่ที่ศาลและยังไม่มีการออกหมายขังไว้เลย จะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกจากห้อง  ควบคุมในศาลได้เลย ถ้าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ระหว่างถูกขังตามหมายศาล เจ้าหน้าที่จะนำหมายปล่อยไปปล่อย ณ ที่ถูกคุมขัง

          9.  ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว       10. หากศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ผู้ขอประกันขอรับหลักทรัพย์ที่ยื่นไว้คืนได้

จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

          11. การขอประกันในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับที่

กล่าวมาแล้ว  แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจเพิ่มหลักประกันจากของศาลชั้นต้นได้

หลักประกัน

          เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวโดยศาล ผู้ประกันสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันได้ดังนี้

1. การใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน ได้แก่

1.1 เงินสด

1.2 ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือน.ส. 3 ก.) ซึ่งมีหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดินและไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี (จำนอง)

                   1.3 ห้องชุดมีโฉนดที่ดินและมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และต้องไม่มีภาระผูกพันอันอาจกระทบต่อการบังคับคดี

1.4 หลักทรัพย์อย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น

- พันธบัตรรัฐบาล

- สลากออมสิน

- สลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

- ใบรับเงินฝากประจำของธนาคาร

- กรมธรรม์ประกันภัย

2. การใช้บุคคลเป็นประกัน (ตำแหน่ง)

 - เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐประเภทอื่น ๆ รวมถึงลูกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัทเอกชน

- เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติ พี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือบุคคลอื่นที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้

- อัตราหลักประกัน ให้ทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่า ของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หากวงเงินประกันมียอดสูงกว่าวงเงินที่ผู้นั้นมีสิทธิประกันได้ ศาลอาจกำหนดให้ผู้ขอประกันวางเงินหรือหลักทรัพย์อื่นเพิ่มเติมให้เพียงพอ กับวงเงินประกันหรืออาจให้มีผู้ขอประกันหลายคนร่วมกัน ทำสัญญาประกันโดยใช้วงเงินของแต่ละคนรวมกันได้

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอประกันตัวต่อศาล

                   - บัตรประจำตัวประชาชน บัตรข้าราชการ หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน ทะเบียนบ้านของจำเลยและผู้ขอประกันพร้อมสำเนา

- หลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน เช่น เงินสดโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการ ทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สมุดเงินฝากประจำพร้อมสำเนา

- หนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง (กรณีขอประกันตัวด้วยตำแหน่งหน้าที่)

 - หนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจากสำนักงานที่ดิน (กรณีใช้โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นประกัน) พร้อมสำเนา

- หนังสือรับรองจากธนาคาร (กรณีใช้สมุดเงินฝากประจำเป็นประกัน)

                   - หนังสือยินยอมของคู่สมรส (กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรส)

 หลักเกณฑ์ในการสั่งคำร้องขอประกัน

          เมื่อยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลแล้ว ศาลจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ประกอบในการพิจารณาสั่งคำร้อง คือ

  • ความหนักเบาแห่งข้อหา
  • พยานหลักฐานที่นำสืบแล้วมีเพียงใด
  • พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
  • เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
  • ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
  • ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจาการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด
  • คำคัดค้านของพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน

ข้อห้ามการปล่อยชั่วคราว

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดชัดเจนว่ากรณีใดที่ผู้มีอำนาจ พิจารณาคำร้องดังกล่าวต้องปฏิเสธการปล่อยชั่วคราว เพื่อเป็นแนวทางเดียวกันในชั้นศาล พนักงานสอบสวน หรือ พนักงานอัยการ โดยข้อห้ามการปล่อยชั่วคราวกำหนดไว้ในมาตรา 108/1 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้ คือ

          1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะหลบหนี

          2. ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

          3. ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

          4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

          5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้า พนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

          คำสั่งห้ามดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลและต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้ยื่นคำร้องขอให้ ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

          พฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ดุลพินิจของศาลพนัก งานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวด้วย ถ้าพฤติ กรรมไม่เข้าเหตุทั้งห้าข้อ จะต้องปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยมีประกันหรือไม่มีแล้ว แต่จะเห็นสมควร

ข้อควรปฏิบัติสำหรับนายประกัน

          1.ให้ชื่อและที่อยู่อันแท้จริงต่อศาลหากมีการย้ายที่อยู่ต้องแจ้งให้ศาลทราบโดย เร็ว

          2. เมื่อศาลอนุญาตให้ประกัน นายประกันต้องลงลายมือชื่อในสัญญาประกันไว้เป็นหลักฐานและต้องลงชื่อทราบกำหนดวันเวลาส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมายังศาล ด้วย

          3. ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัดในชั้นผัดฟ้องฝากขัง นายประกันต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลในวันครบกำหนดผัดฟ้องฝากขังแต่ละครั้ง เมื่อศาลนัดให้จำเลยไปศาลในวันใด ไม่ว่าจะเป็นวันนัดสืบพยาน นัดฟังคำพิพากษา นัดสอบถาม หรือนัดเพื่อการอื่นใด นายประกันต้องนำจำเลยไปส่งศาลทุกครั้ง หากนายประกันผิดนัดไม่สามารถนำผู้ต้องหาหรือจำเลยไปศาลตามที่กล่าวข้าง ต้น ศาลอาจถอนประกันและปรับนายประกันตามสัญญาทันที ฉะนั้นนายประกันจึงต้องคอยติดตามอยู่เสมอว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ที่ใดในระหว่างประกันตัว

การมอบฉันทะให้ส่งตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา

          ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นายประกันได้ประกันตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาไป นายประกันมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัดของศาลทุกครั้ง  แต่หากนายประ กันไม่สามารถมาศาลได้ นายประกันอาจมอบฉันทะให้บุคคลอื่นส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลแทนได้โดยขอแบบฟอร์มใบมอบฉันทะได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล

การขอรับหลักทรัพย์หรือเงินสดคืนจากศาล (การขอถอนหลักประกัน) 

เมื่อคดีถึงที่สุด หรือศาลอนุญาตให้ถอนประกัน หรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น (กรณีนายประกันไม่ผิดสัญญาประกัน) ความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง นายประกันสามารถขอหลักประกันคืนได้ทันทีโดยยื่นคำร้องขอถอนหลักประกันคืนต่อศาลและแนบหลักฐาน คือ ใบรับหลักฐานและใบรับเงินที่ศาลออกให้เมื่อครั้งยื่นขอปล่อยชั่วคราว หากใบรับหลักฐานหรือ ใบรับเงินสูญหายต้องแจ้งความ ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำใบรับแจ้งความมาแสดงต่อศาล โดยปกติแล้วนายประกันต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง หากไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเองสามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับหลักทรัพย์หรือเงินสดแทนได้ โดยใบมอบฉันทะขอได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล

กรณีศาลสั่งปรับนายประกัน (นายประกันผิดสัญญาประกัน)

 ในกรณีที่ศาลสั่งปรับนายประกันตามสัญญาประกัน นายประกันจะต้องนำเงินค่าปรับมาชำระต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด  มิฉะนั้นศาลจะสั่งยึดหลักประ กันขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าปรับต่อไป และถ้าได้เงินไม่พอชำระค่าปรับศาลอาจยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของนายประกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าปรับจนครบ นายประกันที่ศาลสั่งปรับตามสัญญาประกัน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลได้ภายในกำหนด 1 เดือน หรืออาจนำตัวจำเลยมาส่งศาลและขอลดค่าปรับต่อศาล

***ข้อมูลนี้เป็นการให้บริการเชิงข้อมูล  ไม่สามารถใช้อ้างอิงทางกฎหมายได้***