การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภค
ความหมายของ “คดีผู้บริโภค”
“คดีผู้บริโภค” หมายถึง
๑.
คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา ๑๙ หรือกฎหมายอื่นกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการตามมาตรา ๓(๑)
๒.
คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามมาตรา ๓(๒)
๓.
คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตามมาตรา ๓(๑) หรือ (๒) ตามมาตรา ๓(๓) เช่น ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง สัญญาจำนำ สัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นต้น
๔.
คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งอนุมาตรานี้เปิดโอกาสให้กฎหมายที่ออกมาในภายหลังสามารถกำหนดให้นำวิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ไปใช้กับคดีอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓ (๑) (๒) และ (๓) และให้ถือว่าคดีเหล่านั้นเป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ผู้บริโภค
คือผู้ซื้อ
ผู้เช่า
ผู้เช่าซื้อ
หรือผู้ได้มาไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น หรือผู้ได้รับการเสนอหรือชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
ผู้ประกอบธุรกิจ คือ ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อจำหน่าย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อ ผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย
ข้อสังเกต
๑. คดีผู้บริโภคต้องเป็นคดีแพ่งเท่านั้น
๒. ผู้บริโภคต้องเป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายจริงๆ ไม่ใช่ผู้ที่ซื้อมาเพื่อขายต่อ
หากมีปัญหาว่าคดีนั้นเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด โดยคู่ความขอให้ส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือศาลเห็นสมควรส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดตามมาตรา ๘ เช่น
คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ ที่ ๙/๒๕๕๑ กรณีโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทนและให้บุคคลอื่นกู้ยืมอีกหลายรายถือว่าโจทก์เป็นผู้ให้บริการและเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืม จึงเป็นคดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภค สินค้าหรือบริการ จึงเป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา ๓(๑)
การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภค
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นพิเศษแตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งใช้บังคับแก่คดีที่มิใช่คดีผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเป็นกระบวนพิจารณาที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเที่ยงธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยง่าย
กล่าวคือสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีด้วยตนเองได้ โดยไม่จำต้องมีทนายความช่วยเหลือ การฟ้องคดีผู้บริโภค โจทก์จะฟ้องเป็นหนังสือหรือฟ้องด้วยวาจาก็ได้ ในกรณีที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาให้เจ้าพนักงานคดีจัดให้มีการบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องให้ และหากศาลเห็นว่า คำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจน ตาม มาตรา ๒๐ ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องฟ้องขาดสาระสำคัญซึ่งอาจเป็นฟ้องเคลือบคลุมและอาจถูกศาลยกฟ้อง เพราะเหตุนี้ ผู้บริโภคโดยทั่วไปแม้จะไม่มีความรู้กฎหมายก็สามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้ ซึ่งหากผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็จะได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงโดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอ ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งต่างจากคดีแพ่งทั่วไปซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาล หากไม่สามารถเสียค่าขึ้นศาลได้ก็ต้องยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ในคดีผู้บริโภคนั้นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่ผู้บริโภคนั้นนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร หรือ ประพฤติตนไม่เรียบร้อย หรือดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะประวิงคดีหรือไม่จำเป็น หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตามมาตรา ๑๘
ในชั้นพิจารณาคดีของศาล ในวันนัดพิจารณาให้เจ้าพนักงานคดีหรือบุคคลที่ศาลกำหนดหรือที่คู่ความตกลงกันทำการไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันก่อน ตามมาตรา ๒๕ ถ้าไม่สามารถตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมกันได้และจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ
ให้ศาลจัดให้
มีการสอบคำให้การของจำเลย ซึ่งจำเลยจะให้การเป็นหนังสือหรือให้การด้วยวาจาก็ได้ ในกรณีที่จำเลยให้การด้วยวาจาให้ ศาลจัดให้มีการบันทึกคำให้การและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้หรือศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีช่วยเหลือคู่ความในการจัดทำคำให้การหรือบัญชีระบุพยานให้คู่ความก็ได้ ตาม มาตรา ๒๖ ประกอบข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๑๗
จะเห็นได้ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้นไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนคดีแพ่งทั่วไป อีกทั้งยังมีเจ้าพนักงานคดีช่วยเหลือคู่ความในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่จึงมีความสำคัญ เพราะหากไม่ใช่คดีผู้บริโภคจะนำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมาใช้บังคับไม่ได้.
โดย
นายบุญยงค์
มีวงษ์
เจ้าพนักงานคดีปฏิบัติการ
จาก