สรุปสาระสำคัญของอำนาจตามกฎหมายใน
"พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน"
"พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลจะนำมาใช้สกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
แถลงภายหลังการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.
63 ว่าจะประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯใน "วันที่ 26 มี.ค.63"
สำหรับสาระสำคัญอำนาจตามกฎหมายของ
"พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" มีดังนี้
- นายกฯโดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตท้องที่ตามความจำเป็น
- "กรณีเป็นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" นายกฯมีอำนาจออกข้อกำหนดดังนี้
(1) ห้ามบุคคล ออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด
เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
(2) ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
(3) ห้ามแพร่ข่าวที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด
(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว
หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
- "กรณีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" นายกฯมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น
หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ
อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง
หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
(2) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
(3) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า
เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า
ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุการณ์สถานการณ์ฉุกเฉิน
(4) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน
หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง
ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็วและหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
(5) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆหรือสั่งให้กระทำการใดๆเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ
ความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยของประชาชน
(6) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร
เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ
(7) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร
ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
(8) ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์
เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือ ว้สดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด
ซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกฯกำหนด
(9) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ขอฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใด
ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก
- ผู้ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้
อาจมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
- ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายเวลา ขยายได้เป็นคราวๆละไม่เกิน
3 เดือน