หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

สิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา


สิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา

            ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (2)) จากความหมายของผู้ต้องหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้ต้องหานั้นเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดเท่านั้น แต่การที่เขาจะกระทำความ ผิดจริงหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆโดยศาล

สิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ
            1. สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 39
          2. สิทธิที่จำได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40 (3) (4) (7)
          3. สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40(7)
          4. สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนเองถูกฟ้องคดี ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40(4))
         5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามกฎหมายและต้องแจ้งเหตุให้ทราบโดยเร็ว ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 40(7)

สิทธิของผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


ณ สถานที่จับกุม
          สิทธิของผู้ถูกจับในชั้นจับกุมบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการจับกุม ซึ่งจำแนกวิธีปฏิบัติในการจับออกเป็นข้อได้ดังนี้
         1. เจ้าพนักงานซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับว่า เขาต้องถูกจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคหนึ่ง เจตนาของกฎหมายเพื่อให้ผู้ถูกจับทราบเบื้องต้นว่าเขาจะ ต้องถูกจับ
          2. เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หรือหากเป็นกรณีจับตามหมายจับผู้จับต้องแสดงหมายจับต่อผู้ถูกจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสองเพื่อที่ผู้ถูกจับจะได้ทราบข้อกล่าวหาและรายละเอียด ข้อเท็จจริงที่เขาจะต้องถูกจับตามหมายจับที่ได้แสดงนั้น ซึ่งผู้ถูกจับจะได้เตรียมการต่อสู้และแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกจับ ในกรณีที่เขาไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ตั้งข้อกล่าวหาไว้
          หากเจ้าพนักงานผู้จับมิได้แจ้งถือเป็นการจับมิชอบ ซึ่งจะมีผลดังนี้
                   1) ผู้ที่จะถูกจับกระทำการโต้ตอบการจับโดยอ้างป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ได้
                   2) ผู้จะถูกจับต่อสู้ขัดขวาง ก็ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และไม่ผิดฐานทำร้ายร่างกาย
                   3) ผู้จับมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1089/02)
                   4) ผู้จับอาจมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (คำพิพากษาฎีกาที่4243/42)
                   5) ผู้ถูกจับมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดต่อเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 (คำพิพากษาฎีกาที่5824/43)
                   6) พยานหลักฐานที่ได้มาจากการค้นอันสืบเนื่องมาจากการจับโดยไม่ชอบ จะ รับฟังไม่ได้
                   7) การจับโดยไม่ชอบทำให้การคุมขังต่อเนื่องมาจากการจับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย ผู้ถูกคุมขัง ฯลฯ มีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวได้ คำพิพากษาฎีกาที่466/41
          3. เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ ตามประมวลกฎ หมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ผู้ถูกจับได้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจับที่จะไม่ให้การในชั้นจับกุมหรือในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อที่ผู้ถูกจับจะเตรียมตัวในการที่จะแก้ข้อกล่าวหาโดยที่จะไม่มีผู้ใดบังคับให้เขาให้การในขณะนั้น ถ้าเขายังไม่มีความพร้อมที่จะให้การซึ่งเมื่อเขาให้การไปแล้วอาจจะเสียเปรียบในการต่อสู้คดีได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจับได้มีโอกาสที่จะต่อสู้ได้อย่างเต็มที่
          4. เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งว่าถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง
          5. เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 83 วรรคสอง เพื่อให้ผู้ถูกจับสามารถที่จะมีที่ปรึกษาทนายความที่มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เข้ามาคุ้มครองช่วยเหลือแก่เขาในการแก้ข้อกล่าวหา
         6. เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบว่า มีสิทธิแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งเขาไว้วางใจทราบถึง การจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เจ้าพนักงานก็ต้องอนุญาตให้ผู้ผูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง ตามปกติเจ้าพนักงานผู้จับต้องอนุญาตให้บุคคลผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี และสามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลผู้ถูกจับมีที่ปรึกษาในทันทีที่เขาถูก จับกุม ซึ่งเขาจะได้ปรึกษาหารือถึงการดำเนินการในการแก้ข้อกล่าวหา และเพื่อที่จะแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งตนเองไว้วางใจ มีการเตรียม การเพื่อขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งเจตนาของกฎหมายเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกจับของรัฐ ที่จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย และจะไม่ถูกควบคุม คุมขัง โดยไม่จำ เป็น และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจับได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในการแจ้งสิทธินี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้น บันทึกการแจ้งข้อความที่ได้แจ้งสิทธิที่ได้อนุญาต ดังกล่าวไว้ด้วย




ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน
          สิทธิของผู้ถูกจับ ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวนบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 ซึ่งจำแนกวิธีปฏิบัติต่อผู้ถูกดังนี้
         1. เจ้าพนักงานผู้จับต้องนำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยทันทีตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 84 วรรคแรก เพื่อให้ผู้ถูกจับได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มากขึ้น โดยที่จะไม่ถูกจับ จะไม่ถูกควบคุมจากพนักงานผู้จับไว้นานเกินสมควร และเพื่อให้เจ้าพนัก งานผู้รับตัวผู้ถูกจับจะได้ทำการตรวจสอบด้วยว่าการจับของเจ้าพนักงานผู้จับซึ่งจับบุคคลผู้ถูกจับมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใดด้วย
          แต่ถ้าหากเจ้าพนักงานผู้ทำการจับกุมมีเจตนาหน่วงเหนี่ยว ถ่วงเวลาไว้เพื่อการอย่างอื่น ๆ โดยไม่มีเหตุจำเป็นตามควร เจ้าพนักงานอาจมีความผิดต่อเสรีภาพ หรือมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้
          2. ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 84 วรรคหนึ่ง (1) เพื่อให้ผู้ถูกจับทราบข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับทราบโดยละเอียด และถ้าเป็นการจับโดยมีหมายจับก็ให้อ่านหมายจับให้บุคคลผู้ถูกจับฟังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงที่ทำการพนักงานสอบสวน
           3. เจ้าพนักงานผู้จับต้องมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง (1) เพื่อเป็นการที่จะให้ผู้ถูกจับตรวจสอบความถูกต้องของการจับของเจ้าพนักงานว่าถูกต้องหรือไม่เพียงใด และสามารถนำไปต่อสู้คดีได้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม
          4. ในกรณีที่ราษฎรเป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ของผู้ถูกจับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญ เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ และแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลัก ฐานในการพิจารณาคดีได้
          5. เจ้าพนักงานผู้รับตัวต้องแจ้งสิทธิและดำเนินการแก่ผู้ถูกจับเพื่อให้ผู้ถูกจับทราบสิทธิตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ดังต่อไปนี้
                   1) พบและปรึกษาผู้ที่จะเป็น ทนายความเป็นการเฉพาะตัว
                   2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ในชั้นสอบสวน
                   3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
                   4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
          การไม่แจ้งสิทธิตามมาตรา 7/1 (เดิมคือมาตรา 77 ทวิ) คำพิพากษาฎีกาที่ 4063/49 วินิจฉัยว่า บันทึกการจับกุมไม่อาจรับฟังได้
          6. เจ้าพนักงานต้องจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจ  เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ในโอกาสแรกเมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้งก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ในการนี้  มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกจับ (กรณีนี้เจ้าพนักงานผู้รับตัวผู้ถูกจับ เมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนในโอกาสแรก เมื่อผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจ เพื่อให้ทราบถึงการจับกุม และสถานที่ควบคุมในโอกาสแรก เจ้าพนักงานก็ต้องมีหน้าที่จัดการติดต่อญาติหรือผู้ที่ผู้ถูกจับไว้วางใจทราบ และการติดต่อห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้รับตัวผู้ถูกจับเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ถูกจับ ถ้าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจไม่ดำเนินการตามที่ร้องขอ อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 157 ที่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          7. ผลของการที่เจ้าพนักงานผู้จับไม่แจ้งสิทธิหรือไม่จัดดำเนินการบทบัญญัติของกฎหมายให้แก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรค 4 ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่งหรือตามมาตรา 83 วรรคสองแก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี
          8. การแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบการแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้นผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมพนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริง อันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134
          9. ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1
          10. ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/3
          11.ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
                   1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
                   2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และ มาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้
          12. ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ ประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135
          13. พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134