หลักนิติภาษิต บันทึกโดย หลวงสกล สัตยาทร / สวัสดิการของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด......ผู้ใดมาขอความยุติธรรม ผู้นั้นต้องมาด้วยมือสะอาด..... ผู้ใดละเมิดกฎหมาย จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบทกฎหมายย่อมไม่บังเกิดผล.....จากมูลเหตุอันไร้ศีลธรรม ย่อมไม่เกิดสิทธิแห่งการเรียกร้อง..... อาชญากรรมยังผลให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนั้นไร้ผล....กฎหมายไม่บังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัย.....บทกฎหมายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ระวัง แต่ไม่ช่วยเหลือผู้ที่นอนหลับ.....ทุกสิ่งต้องสันนิษฐานว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ความตรงข้าม..... กฎหมายไม่ต้องการให้พิสูจน์สิ่งซึ่งชัดแจ้งต่อศาลแล้ว.....ถ้อยคำที่ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องการคำอธิบาย.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย..... เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องละเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.....ในเมื่อถ้อยคำนั้นตีความหมายไม่ได้เป็นสองนัยแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการแปลความหมายที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่แท้จริงนั้น ..... ท่านต้องไม่ทำให้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายแตกต่างหรือผันแปรไป....หลักการตีความหมายควรถือหลักเสรี และควรให้ถ้อยคำเป็นไปตามความตั้งใจ.....จะต้องเข้าใจถ้อยคำไปในทางที่จะให้วัตถุประสงค์นั้นเป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เสียผล.....การตีความในกฎหมายย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย....ในการตีความหมายในสัญญาควรต้องเพ่งเล็งเจตนาของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำที่ใช้อยู่....กฎหมายไม่บังคับให้ผู้ใดปรักปรำตนเองหรือให้หลักฐานเป็นปรปักษ์แก่ตน....ในทางอาชญากรรมย่อมมุ่งถึงเจตนา ไม่ใช่ผลของการกระทำ...ไม่มีผู้ใดต้องถูกลงโทษเนื่องจากความคิด....เพียงแต่การกระทำเท่านั้นยังไม่ทำให้ผู้กระทำมีความผิดเว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาที่ผิด....ผู้สำคัญผิดไม่ได้ถือว่าให้ความยินยอม.....ถือเอาตามน้ำหนักของพยาน ไม่ใช่จำนวนพยาน.....คำรับสารภาพที่รับต่อศาลย่อมมีน้ำหนักว่าการพิสูจน์อย่างอื่น.....เมื่อความเห็นเท่ากันจำเลยย่อมถูกยกฟ้อง ....ดุลยพินิจคือการวินิจฉัยโดยอาศัยหลักกฎหมายว่าอะไรยุติธรรม.....คำพิพากษาของตุลาการที่ตัดสินเกินอำนาจย่อมไม่มีผล....การจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่สุดทีทำให้เกิดความอยุติธรรมมากที่สุดได้

การปฏิบัติตัวเมื่อมาเป็นพยานศาล



พยานศาลหรือพยานหมาย คือ ผู้ที่พนักงานอัยการ โจทก์ หรือ จำเลย ขอให้ศาลมีหมายเรียกให้ไปศาลเพื่อเป็นพยานโจทก์หรือพยานจำเลย และเบิกความในเรื่องที่ได้รู้ได้เห็นและเป็นข้อเท็จจริงในคดี

การส่งหมายเรียกพยาน

          - คู่ความฝ่ายที่อ้างท่านเป็นพยานนำไปส่ง

          - เจ้าพนักงานศาลนำไปส่ง

เมื่อท่านได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานศาลควรทำอย่างไร

          - ควรตรวจรายละเอียดในหมายเรียกเพื่อให้ทราบว่า ศาลไหนเรียกให้ท่านไปเป็นพยาน และท่านต้องไปเป็นพยานโจทก์หรือพยานจำเลย ในวัน เวลา ใด

          - หากมีข้อสงสัย กรุณาโทรสอบถามตามหมายเลขโทรศัพท์ของศาลที่ปรากฏอยู่ในหมายเรียก

          - ควรเก็บหมายเรียกไว้ และนำไปศาลในวันที่ศาลนัดสืบพยาน

จะทำอย่างไรหากไม่สามารถมาเป็นพยานศาลได้

          - หากเจ็บป่วยหรือมีเหตุขัดข้องจำเป็น ไม่สามารถไปเป็นพยานศาลในวันนัดสืบพยานได้ขอให้ท่านทำหนังสือแจ้งอธิบดีผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเพื่อชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็น โดยที่ท่านอาจนำหนังสือไปยื่นที่ศาลด้วยตัวเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นนำไปยื่นแทนท่านก็ได้ แต่ต้องยื่นก่อนวันที่ศาลนัดสืบพยาน

          - ในระหว่างเดินทางไปศาล หากมีอุบัติเหตุหรือข้อขัดข้องเกิดขึ้นขอให้ท่านโทรศัพท์ที่ปรากฏอยู่ในหมายเรียก

จะเกิดอะไรขึ้น หากไม่ไปศาลตามหมายเรียก

          - การไม่ยอมไปศาลตามหมายเรียกโดยไม่มีเหตุผลอันควร ศาลอาจออกหมายจับและกักขังท่านไว้ จนกว่าจะเบิกความเสร็จ และท่านอาจถูกฟ้องให้ต้องรับโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การเตรียมตัวก่อนไปเป็นพยานศาล

          - ควรทบทวนเหตุการณ์ที่ท่านได้รู้ ได้เห็นเกี่ยวกับคดี เพื่อจัดลำดับเรื่องราวต่าง ๆ จะได้เกิดความมั่นใจเมื่อไปเบิกความต่อศาล และหากเป็นคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสาร ท่านควรติดต่อไปยังฝ่ายโจทก์หรือจำเลยที่อ้างท่านเป็นพยานเพื่อขอตรวจสอบเอกสาร

การปฏิบัติตัวเมื่อไปศาลในวันนัดสืบพยาน

          - นำหมายเรียกไปด้วย เพราะในหมายเรียกจะปรากฏหมายเลขคดี ชื่อโจทก์ ชื่อจำเลย ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลในการติดต่อราชการศาลได้เป็นอย่างดี

          - กรุณาแต่งกายสุภาพ ไม่ควรสวมรองเท้าแตะ

          - ไปศาลก่อนเวลานัดสืบพยาน จะทำให้ท่านมีเวลาพอที่จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่งานประชา สัมพันธ์เพื่อสอบถามว่าคดีตามหมายเรียกของท่านจะมีการสืบพยานที่ห้องพิจารณาใด หรืออาจตรวจหาห้องพิจารณาจากป้ายประกาศนัดความของศาลเองก็ได้

          - เมื่อทราบห้องพิจารณาแล้วกรุณาแจ้งกับเจ้าหน้าที่งานหน้าบัลลังก์ประจำห้องพิจารณานั้น ๆ ว่า ท่านมาถึงศาลแล้วและนั่งรอในที่พักพยานที่ศาลจัดไว้

          - หากต้องรอเพื่อเบิกความเป็นเวลานานเกินไป กรุณาสอบถามเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ประจำห้องพิจารณานั้นๆ

การปฏิบัติตัว เมื่อเข้าห้องพิจารณาในฐานะพยานศาล
- เจ้าหน้าที่งานหน้าบัลลังก์ประจำห้องพิจารณาจะเรียกเข้าห้องพิจารณาเมื่อฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลยและพยานมาพร้อมกันแล้ว และเมื่อผู้พิพากษาปรากฏตัวบนบัลลังก์ขอให้ทุกคนในห้องพิจารณายืนขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อศาล

          - ก่อนที่จะเบิกความ เจ้าหน้าที่ฯจะนำท่านเข้าประจำที่ที่เรียกว่า คอกพยานจากนั้นท่านจะต้องสาบานตนตามลัทธิศาลนาของท่านว่าจะให้การด้วยความสัตย์จริง โดยเจ้าหน้าที่ฯจะเป็นผู้นำสาบานและท่านต้องกล่าวตาม เว้นแต่

          1 บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือผู้หย่อนความรู้สึกผิดและชอบ

          .2 ภิกษุสามเณรในพุทธศาสนา

          3 บุคคลที่คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องให้สาบาน

          - เมื่อสาบานตนเรียบร้อยแล้ว ขอให้ท่านนั่งลงและตอบคำถามที่ผู้พิพากษาทนายโจทก์หรือทนายจำเลยถามท่านด้วยความสัตย์จริงและใช้วาจาสุภาพ

ภายหลังจากปฏิญาณหรือสาบานตนแล้ว

          - พยานจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับชื่อ อายุ ที่อยู่และความเกี่ยวพันระหว่างพยานกับคู่ความ ต่อจาก นั้นคู่ความหรือทนายความฝ่ายที่อ้างพยานมาศาลจะซักถามเรื่องราวจากพยาน ภาษากฎหมายเรียก ว่า “ซักถามเมื่อฝ่ายที่อ้างพยานถามเสร็จแล้วคู่ความหรือทนายความอีกฝ่ายหนึ่งจะถามพยาน ภาษากฎหมายเรียกว่า “ถามค้านเสร็จแล้วฝ่ายที่อ้างพยานจะถามพยานอีกครั้ง ภาษากฎหมายเรียก ว่า “ถามติงทั้งนี้คู่ความหรือทนายความอาจงดการถามค้านหรือถามติงเสียได้ ถ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อคดี

          - ควรใช้สรรพนามแทนตัวท่านเองว่ากระผม หรือผมหรือดิฉันหรือฉัน หากกล่าวถึงผู้พิพากษา ให้ใช้สรรพนามแทนผู้พิพากษาว่า ศาลหรือ ท่าน

          - ขอให้ท่านเบิกความเฉพาะเรื่องที่ท่าน ได้รู้ ได้เห็นด้วยตัวท่านเอง อย่าเบิกความในเรื่องที่ได้รับการบอกเล่าจากผู้อื่น เว้นแต่ศาลจะสั่ง

          - ขอให้เบิกความด้วยวาจา อย่าใช้วิธีการอ่านข้อความตามที่เขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษา หากไม่แน่ใจหรือจำไม่ได้ ให้ตอบไปตรง ๆ ว่าไม่แน่ใจ หรือจำไม่ได้

          - อย่าเบิกความโดยการคาดคะเนหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะท่านอาจมีความผิดในข้อหาเบิกความเท็จได้

          - หากฟังคำถามไม่ชัดเจนท่านสามารถขอให้มีการทวนคำถามซ้ำอีกครั้งได้

          - เมื่อเบิกความเสร็จ ศาลจะอ่านคำเบิกความของท่าน หากเห็นว่าคำเบิกความไม่ถูกต้องตรงกับที่ท่านเบิกความไว้หรือไม่ครบถ้วน ขอให้แจ้งศาลทราบทันทีเพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่ท่านจะลงชื่อในคำเบิกความ

 จะทำอย่างไรเมื่อมีการเลื่อนนัดสืบพยาน

          - หากศาลไม่สามารถสืบพยานในวันนัดได้ เจ้าหน้าที่งานหน้าบัลลังก์ประจำห้องพิจารณาจะให้ท่านลงชื่อรับทราบ วัน เวลานัดครั้งต่อไป โดยจะไม่มีการส่งหมายเรียกไปอีก ขอให้ท่านจำวัน เวลานัดดังกล่าว และกรุณาไปตามนัดด้วย

สิทธิในการรับค่ายานพาหนะและค่าป่วยการพยาน

          - หากเป็นพยานในคดีแพ่ง ท่านจะได้รับค่าพาหนะและค่าป่วยการตามที่ศาลกำหนด โดยฝ่ายโจทก์หรือจำเลยที่อ้างท่านเป็นพยานต้องเป็นผู้จ่าย

          - หากเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ท่านจะได้รับค่าพาหนะเท่าที่จ่ายไปจริงตามสมควรโดยโจทก์ ต้องเป็นผู้จ่าย

การเบิกความเท็จ
           พยานผู้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ก็มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการเบิกความเท็จ ในการพิจารณาคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท