"คนจน": สถานภาพที่สังคมกำหนดให้หรือติดตัวมาแต่กำเนิด
กล่าวกันว่า "ความยากจน" เป็น "สถานภาพ" ประการหนึ่ง ที่สังคมกำหนดขึ้นภายหลังให้แก่ผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกับสถานภาพการเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย สถานภาพการเป็นผู้นำประเทศ ฯลฯ ที่ถูกกำหนดโดยหลักเกณฑ์กลไกทางสังคมชุดหนึ่งๆ และมีกฎระเบียบรองรับความมีอยู่จริงของสถานภาพนั้น
ทั้งนี้เพราะ “ความยากจน” มิใช่สถานภาพที่ได้รับติดตัวมาแต่กำเนิด (ascribed status) เช่น สถานภาพการเป็นชาย-หญิง ผิวดำ-ผิวขาว ฯลฯ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะถือกำเนิดมาในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง หรือ ครอบครัวที่ยากจนข้นแค้นก็ตาม
และเมื่อ "ความยากจน" มิใช่สถานภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้ว ความยากจนจึงเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงได้ในตัวเอง ไม่ว่าจะนำไปสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยอื่นใดในสังคมก็ตาม ซึ่งวิธีการมองปัญหาความยากจนดังกล่าวเป็นการมองตาม “แบบทฤษฎีโครงสร้างนิยม” คือ “ปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนดปัญหาความยากจนขึ้น” นี้เป็นนัยในการมองปัญหาความยากจนลักษณะแรก
แต่อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (Judith Chafel, 1997, p.434) กลับมองปัญหาความยากจนอีกลักษณะหนึ่งว่าเป็นเรื่องของการผสมผสานกันระหว่างปัจจัยทางชีววิทยาและวัฒนธรรม หรือเป็น “เรื่องที่เกิดจากเหตุปัจจัยภายในตนเองมากกว่าเหตุปัจจัยภายนอก”
เช่นเดียวกับที่ Michael Harrington (1963, 21) เชื่อว่า ความยากจนเป็นเรื่องที่ติดตัวมาแต่กำเนิด คือเกิดผิดที่ เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เกิดมาจากพ่อแม่ที่ยากจน อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผิด และในท้องถิ่นที่ผิดที่ผิดทางของประเทศ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นคุณลักษณะที่ถูกจัดจำแนกไว้เรียบร้อยแล้ว (ก่อนที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดมาท่ามกลางสิ่งเหล่านี้) เรียกว่าเป็น "การแบ่งแยกเชิงสถาบัน" (institutional discrimination) ดังนั้นจึงควร “ต้องตำหนิ” เรื่องของ "ความยากจน" แต่ “ไม่ควรจะตำหนิ” "คนยากจน" เพราะสถานภาพทางสังคม เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงเลื่อนชนชั้นได้ภายหลัง
ความยากจนกับ "วัฒนธรรมความยากจน" (culture-of-poverty)
วิธีการอธิบายเรื่อง "ความยากจน" ที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง คือการอธิบายความยากจนด้วยการตำหนิเหยื่อว่ายากจนเพราะรับเอา "วัฒนธรรมความยากจน" (D. Stanley Eitzen and Maxine Baca Linn, 2000,p.198-199) มาเป็นของตน โดยคำอธิบายตั้งอยู่บนฐานที่ว่า คนยากจนมีคุณภาพของค่านิยมและวิถีชีวิตผิดแผกแตกต่างจากธรรมเนียมค่านิยมและวิถีชีวิตของคนชนชั้นอื่นๆในสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนี้เรียกได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมรอง” (subculture) รูปแบบหนึ่ง คือ "วัฒนธรรมความยากจน" ซึ่งเชื่อว่ามีการถ่ายทอดวัฒนธรรมความยากจนผ่านกระบวนการขัดเกลาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานด้วย ลูกหลานของคนยากจนจึงได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักดำรงชีพตามอัตถภาพ ขณะเดียวกันก็รอคอยโชคชะตามาพลิกผันชีวิตให้แปรเปลี่ยนไป
ความยากจนทำให้คนประกอบอาชญากรรมจริงหรือ ?
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่ยังมีปัญหาความยากจนปรากฏอยู่มาก โดยมีประชากรร้อยละ 15.1 ถูกจัดว่าเป็นคนยากจนอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.1993 และมีสถิติอาชญากรรมในคดีเกี่ยวกับทรัพย์ในอัตราที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยประเทศอื่นๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดจากการที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งๆที่มีระบบสวัสดิการสังคมรองรับผู้คนกลุ่มนี้อย่างดียิ่ง
ขณะที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่มีความยากจนปรากฏอย่างชัดเจน กลับถูกสอนให้ยอมรับในสภาพความขาดแคลนของชีวิต และไม่มีปัญหารุนแรงที่เกิดจากช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยเช่นเดียว กับประเทศที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยแต่อย่างใด
เชื่อกันว่า ความยากจนเป็นปัจจัยนำไปสู่การเกิดพยาธิสภาพแก่ปัจเจกบุคคล และมีผลกระทบต่อส่วนรวม เช่น การเกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นนำไปสู่การเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ การฆ่ากันตาย ยาเสพติดและเมาสุรา ซึ่งทำให้คนจนกระทำผิดและติดคุกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเมื่อสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สถิติอาชญากรรมน่าจะลดลง
แต่การณ์มิได้เป็นดังที่คาดหมาย เพราะยังปรากฏว่ามีคดีอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตขาว (white-collar crime) ซึ่งกระทำโดยคนชั้นสูง ข้าราชการและนักการเมืองเกิดขึ้นมากมาย พอๆกับอาชญากรรมประเภทคอเชิ้ตน้ำเงิน (blue-collar crime) ซึ่งกระทำโดยชนชั้นผู้ใช้แรงงาน คนยากจนที่หาเช้ากินค่ำ และยังปรากฏว่ามีคดีขึ้นโรงขึ้นศาลอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้ชำนาญการทั้งหลายไม่สามารถใช้คำพูดเก่าๆที่ว่า "ความยากจนเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม" (poverty is the mother of crime) ได้อีกต่อไป และทำให้คนยุโรปสร้างคำกล่าวใหม่ขึ้นว่า "ความยากจนเป็นความเลวทรามและความร่ำรวยเป็นความทุจริตที่ชั่วช้า" (poverty degrades and wealth corrupts)
คำถามน่าสนใจที่เกิดขึ้น คือ "ความยากจนทำให้คนประกอบอาญากรรมจริงหรือ?" หรือว่าความยากจนเป็นเพียงความสัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์กับปัญหาอาชญากรรม และสาเหตุของปัญหาอาชญากรรมที่แท้จริงน่าจะเป็นเรื่องของปัจจัยภายในจิตใจ ที่มีความโลภ โกรธ หลง มีความอยาก ความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดมากกว่าเพราะเหตุแห่งความยากจนหรือไม่ อย่างไร
การเดินทางสู่ "ความยุติธรรม" ของ "คนยากจน"
กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมในลักษณะ "รัฐสวัสดิการ" (state welfare) รูปแบบต่างๆ เพื่อประกันการว่างงาน ประกันสังคม และจัดสวัสดิการสงเคราะห์ให้กับผู้คนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งคนยากจน ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง
แต่สำหรับ "การจัดบริการของรัฐด้านงานยุติธรรม" เพื่อ “สร้างความเป็นธรรม” ให้กับสมาชิกสังคม ที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ผู้ด้อยโอกาส และคนชายขอบของสังคมแล้ว นับว่า “ยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนใดๆ เกิดขึ้น” ทั้งใน “ด้านทัศนคติของบุคลากร” ในกระบวนการยุติธรรมและในรูปของ “สวัสดิการที่เป็นรูปธรรม” โดย "คุก" ก็ยังได้ชื่อว่า "มีไว้ขังคนจน" เช่นเดิม
หรือว่า "ความยุติธรรม" ในความคิดคำนึงของคนยากจนนั้นขัดแย้งกับ "กฎหมาย"
หรือว่า “กฎหมายถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับสถานภาพบางสถานภาพว่าถูกต้อง เหนือกว่าอีกสถานภาพหนึ่งๆ”
เช่น กฎหมายไม่ได้กำหนดความผิดฐานข่มขืนไว้สำหรับชายที่ข่มขืนภรรยาของตน เพราะสถานภาพการเป็น "สามี" อยู่เหนือสถานภาพการเป็น "ภรรยา" ในทางกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่มีสถานภาพเป็นรองย่อมรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม
เช่นเดียวกับที่ "ความยุติธรรม" ของ “คนยากจนผู้มีสถานภาพต่ำกว่าคนอื่นๆในสังคม” นั้น “อาจขัดหรือแย้ง” กับ "กฎหมาย" ก็เป็นได้ กรณีที่กฎหมายนั้นมีลักษณะเป็น positive law ที่มุ่งปกป้องบรรทัดฐานสังคม นโยบายแห่งรัฐ และคนส่วนใหญ่ที่ไม่ยากจนมากเกินไป
ดังนั้น "การเดินทางสู่ความยุติธรรมของคนยากจน" จึงมีลักษณะแตกต่างไปจากการใช้บริการของรัฐด้านอื่นๆ เช่น การขอรับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ด้านการศึกษา หรือด้านที่พักอาศัย เป็นต้น
โดยการรับบริการด้านงานยุติธรรมเป็นบริการที่มิใช่ความต้องการขั้นมูลฐานของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะที่ว่าเมื่อได้รับบริการก็จะได้รับการตอบสนองอันเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง
ทั้งการบริการด้วยการให้สวัสดิการเหล่านี้เป็นการเริ่มต้นรับรอง "ความเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของมวลมนุษยชาติ" ซึ่งเป็นความคิดเชิงบวกในตัวเอง แต่ การรับบริการด้านความยุติธรรมมีลักษณะที่ทำให้ผู้รับบริการส่วนใหญ่ตกอยู่ในฐานะ "ผู้ถูกกระทำ" และตกอยู่ในสถานภาพที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลการพิจารณาพิพากษาคดีไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าผู้รับบริการจะเป็นผู้กระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนบรรทัดฐานของสังคมจริงหรือไม่ก็ตาม
การเข้ารับบริการด้านความยุติธรรมในมิตินี้จึงเป็นเสมือน "การลดทอน" หรือ "ตัดออก" จากการเป็นสมาชิกของสังคมมนุษย์อย่างเป็นทางการและค่อนข้างถาวรมากกว่า เพราะในทางปฏิบัติแล้วผู้ที่มีใบแดงแจ้งโทษจะไม่สามารถเข้ารับราชการได้ รวมถึงการกลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่นที่พักอาศัยเดิมของตนภายหลังการพ้นโทษนั้น ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆที่จะเชื่อได้ว่าเพื่อนบ้านจะ "ยอมรับความมีตัวตน" ของเขาหรือไม่ เพียงใด
หรือแม้แต่ "ผู้ถูกกล่าวหา" หรือ "จำเลย" ที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น บ่อยครั้งที่ยังได้รับการพิพากษาและตราหน้าจากสังคมไปเรียบร้อยแล้วว่ากระทำผิด ก่อนที่ศาลจะพิพากษาจริงเสียอีก ซึ่งเหล่านี้เป็น "กลไกป้องกันตนเองของสังคม" ที่พยายามจะมอบสถานภาพหนึ่งๆ ให้กับบุคคลกลุ่มนี้ อันเป็นการ "ตัดออกไปจากสังคม" ด้วยการประจานว่าเป็นผู้กระทำผิด มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม และทำให้คนที่เหลือของสังคมรู้สึกรวมตัวเป็นพวกเดียวกัน และกลายเป็นกลุ่ม "คนดี" อีกครั้งหนึ่ง
ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงความยุติธรรม
จากการศึกษาสำรวจในงานวิจัยทางด้านอาชญาวิทยาหลายชิ้น พบว่าผู้กระทำผิดคดีประเภทอาชญากรรมพื้นฐาน ที่ถูกดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ตกงาน หรือไม่ก็ประกอบอาชีพเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสามารถอธิบายความสัมพันธ์ของการที่ชนชั้นต่ำกระทำผิดมากนี้ได้ว่า
ประการแรก การเก็บสถิติคดีอาชญากรรมเน้นการจำแนกประเภทคดีอาชญากรรมพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดที่เป็นชนชั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนคดีอาชญากรรมคอเชิ้ตขาว ซึ่งกระทำผิดโดยชั้นสูงทั้งหลายไม่ปรากฏชัดเจนในสาระบบความ
ประการที่สอง ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการเชื่อว่าหรือตั้งสมมติฐานว่า ชนชั้นต่ำมักจะเป็นอาชญากรมากกว่า หรือ
ประการที่สาม ความยากลำบากในการครองชีพของคนจน อาจกดดันให้คนเหล่านี้ประกอบอาชญากรรม ขณะเดียวกันชนชั้นสูงก็ประกอบอาชญากรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งแตกต่างออกไปตามระบบการจัดจำแนกชนชั้นทางสังคม คือ “อาชญากรรมคอเชิ้ตขาว” ซึ่งผู้ประกอบอาชญากรรมชนิดนี้มักเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีบทบาททางการเมืองและอยู่ในวงสังคมชั้นสูง รวมทั้งคดียักยอกทรัพย์ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เรียกรับสินบน ปั่นหุ้น โกงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และเกี่ยวข้องกับผู้คนที่อยู่อีกด้านหนึ่งของชนชั้นทางสังคม
ความรู้สึกของสังคมมักจะมองว่า “อาชญากรรมคอเชิ้ตขาวและผู้มีส่วนร่วม “เหล่านี้ “ไม่ได้ประกอบอาชญากรรมร้ายแรง” ที่เป็น “อันตรายแก่สังคม” เท่ากับ “อาชญากรรมที่กระทำโดยคนจน” ดังนั้น เมื่อชนชั้นต่ำกระทำผิด จึงรู้สึกว่านั่นคือเขากำลังก่อปัญหาอาชญากรรมให้แก่สังคม
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อประกอบอาชญากรรมแล้วชนชั้นสูงสามารถปกปิดความผิดที่ได้กระทำ โดยใช้อำนาจอิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่ได้มากกว่าชนชั้นต่ำ รวมทั้งภาพลักษณ์ในการติดต่อประสานงานกับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของชนชั้นสูง ก็มีผลแตกต่างไปจากภาพลักษณ์ของชนชั้นต่ำ เช่น การแต่งกาย ความสุภาพ การขับขี่รถยนต์ราคาแพง ฯลฯ เป็นต้น
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักถึง “ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมคอเชิ้ตขาว” ซึ่งความจริงแล้วมีผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจการสื่อสาร สามารถเก็บเงินค่าใช้โทรศัพท์จากผู้ใช้ได้ประมาณ 15 พันล้านเหรียญอเมริกันต่อปี แต่แก๊งที่ทำงานใต้ดินสามารถหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายค่าโทรศัพท์ถึงประมาณ 300 พันล้านเหรียญต่อปี หรือเช่น ในรัฐเท็กซัส มีลูกจ้างโกงแรงงานนายจ้าง เช่น ลาป่วยไม่จริง อู้งาน รับประทานอาหารกลางวันนานกว่าเวลากำหนด ฯลฯ คิดแล้วประมาณ 200 พันล้านเหรียญต่อปี เป็นต้น
ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประมาณมูลค่าความเสียหาย ที่เกิดจากอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวเท่าที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น เช่นเดียวกับอาชญากรรมพื้นฐานที่ยังมีคดีความอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีการรายงาน และยากที่จะตรวจตราป้องกัน รวมทั้งความเชื่อที่ผู้คนถูกสอนต่อๆกันมาว่า ถ้าตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมแล้วไม่ควรจะเรียกร้องค่าเสียหายหรือการชดใช้ใดๆ ให้ถือว่าเป็นเคราะห์กรรมของตนที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้น
ดังนั้น แม้จะทราบว่าอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย แต่ไม่ทราบถึงวงเงินค่าเสียหายชัดเจนนัก รู้เพียงว่ามีผู้กระทำผิดกี่คนที่กระทำผิดจากการโกงภาษี โดยจะทราบข้อมูลดังกล่าวต่อเมื่อค้นพบแล้วว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น รู้เพียงว่ามีการลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ของนายจ้างจำนวนเท่าไร มีเซลแมนกี่คนที่ใช้เล่ห์หลอกลวงทางการค้า เจ้าของบริษัทคอมพิวเตอร์โกงซ็อฟแวร์โดยผิดกฎหมายเท่าไร และถ้าทราบถึงมูลค่าความเสียหายเหล่านั้น อาจทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมผู้คนจึงพากันประกอบอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวกันมากมาย และเมื่อพิจารณาอย่างแท้จริงแล้วเราจะเห็นถึงความไม่สอดคล้องเหมาะสมของการที่ใช้กระบวนการยุติธรรมซึ่งมีราคาแพงไปพิจารณาคดีที่ไม่สมควรและทำให้นักโทษล้นคุก แทนที่จะพิจารณาคดีอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวเหล่านี้ ซึ่งยังให้เกิดความเสียหายมากกว่าหลายร้อยเท่า
ปรากฏการณ์ทางสังคมในวงการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ เป็นรูปธรรมของ "ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงความยุติธรรม" ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก “ความยากจน” กับ “ความไม่ยากจน” เพราะเหตุแห่ง “การมีอคติของสังคม” และ “บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม” ในการเลือกปฏิบัติต่อ “คนจนของสังคม” นั่นเอง
กระบวนการยุติธรรมในความเป็นจริง
บาดหลวงโจเซฟ วเรซินสกี้ (2541, น.49) ได้กล่าวคำสดุดีผู้ตกเป็นเหยื่อของความยากไร้ ไว้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2530 มีใจความตอนหนึ่งว่า "...ที่ใดก็ตามที่มนุษย์ทั้งชายและหญิงต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากลำเค็ญ ที่นั่นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน..." ซึ่ง วเรซินสกี้ (2541, น.2) เรียกพื้นที่ซึ่งคนยากไร้จากทั่วทุกมุมโลกต้องประสบชะตากรรมร่วมกัน คือมีสภาพ "ไร้สิทธิ" และจำต้องแยกตัวเองออกไปอยู่ต่างหาก ซึ่งแปลกแยกออกจากโลกของคนอื่นที่พวกเขาไม่มีสิทธิจะเข้าไปอยู่ด้วยว่า "โลกที่สี่" ดังนั้น พื้นที่ของ "โลกที่สี่" จึงครอบครองพื้นที่บางส่วนของกระบวนการยุติธรรมในความเป็นจริงไว้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขจากการสำรวจภูมิหลังของผู้ต้องขังในเรือนจำหลายต่อหลายครั้งระบุตรง กันว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีรายได้น้อย หนี้สินมาก
ภาพใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมในความเป็นจริง ที่มี "คนยากจน" "สิทธิที่จะเข้าถึงความยุติธรรม" และ "มีความจำเป็นต้องใช้บริการ" ของกระบวนการยุติธรรมในฐานะใดฐานะหนึ่งภาพของความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันจึงปรากฏแก่สายตาของสังคมตามมา
"กระบวนการยุติธรรมราคาแพง"
แม้ว่า "กระบวนการยุติธรรม" จะเป็นสถาบันทางสังคม เป็นหลักประกันแห่งอำนาจอธิปไตยและเป็นอะไรต่างๆ อีกมากมาย รวมทั้งเป็น "บริการของรัฐ" รูปแบบหนึ่งก็ตาม แต่กระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็น "กระบวนการยุติธรรมที่มีราคาแพง" อย่างยิ่ง กล่าวคือ
ประการแรก เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ผู้รับบริการต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ฯลฯ ทั้งๆ ที่บางครั้งเป็นเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรม ก็ตาม
ประการที่สอง เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ใช้เวลายาวนานในการดำเนินคดี บางคดีใช้เวลา นานถึง 10 ปี กว่าคดีจะสิ้นสุดลง ทำให้คู่กรณีต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เป็นค่าทนายความ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเสียเวลาในการประกอบอาชีพ รวมทั้งรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรเพื่อการนี้อย่างมากมายมหาศาล
ประการที่สาม คนยากจนที่ไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ประกันตัว ต้องถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งมีจำนวนมากถึงร้อยละ 40 ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ แม้ว่าส่วนหนึ่งจำเป็นต้องขังไว้เพื่อความปลอดภัยของสังคมก็ตาม แต่ผู้คนเหล่านี้เป็นภาระของรัฐที่ต้องจ่ายค่าอาหารเลี้ยงดูตลอดเวลาอันยาวนานดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการพิจารณาคดีให้สูงยิ่งขึ้น
ประการที่สี่ มีคดีความประเภท mala prohibita คือ ความผิดที่รัฐกำหนดว่าเป็นความผิด ได้แก่ ยาเสพติด (ผู้ติดยา) การพนัน หลบหนีเข้าเมือง ฯลฯ และคดีอาชญากรรมพื้นฐาน (street crime) ได้แก่ ลัก วิ่ง ชิง ปล้นทรัพย์ ซึ่งประกอบอาชญากรรมโดยพวกคอเชิ้ตน้ำเงินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากเกินไป และใช้พื้นที่ส่วนใหญ่รวมทั้งบุคลากรและงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไปกับเรื่องเหล่านี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีความชำนาญงานคดีเหล่านี้มาก และกระบวนการยุติธรรมก็มีความคุ้นเคยกับงานคดีประเภทนี้ที่มักจะไม่มีมิติของความซับซ้อนมากนัก ไม่ยุ่งยากในการตามรอยพิสูจน์ความผิด ไม่เหมือนกับคดีประเภทอาชญากรรมคอเชิ้ตขาวที่มีความสลับซับซ้อนมีอิทธิพลเบื้องหลัง
และกระบวนการยุติธรรมขาดความรู้ความชำนาญในการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการกับคดีความที่ไม่เหมาะสม หรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนรูปแบบต่างๆ ของสังคมที่อาจใช้มาตรการอื่นทดแทนได้นั้น ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีราคาแพงขึ้นผู้ใช้บริการต้องอดทนและคอยคิวของตนยาวนานขึ้นเป็นลำดับ
ประการที่ห้า มีการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจัดการกับคดีแพ่งบางประเภท เช่น คดีเช็ค ที่ดิน เป็นต้น ทำให้พื้นที่ของกระบวนการยุติธรรมบางส่วนต้องเสียไปเพื่อประโยชน์ของเอกชน ซึ่งควรแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอื่นแทนการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อการนี้
ประการที่หก กระบวนการยุติธรรมมีราคาแพงเฉพาะเมื่อคนยากจนมาใช้บริการ เพราะกระบวนการยุติธรรมมีวิธีคิดที่ผูกติดกับ “ระบบทุนนิยม” มีการนำเอาแนวคิดแบบทุนนิยมมาใช้กับกระบวนการยุติธรรม คือ คิดอัตราการต้องโทษเป็นแรงงาน เมื่อกระทำผิดจึงต้องจ่ายคืนให้กับการประกอบอาชญากรรมของตนด้วยการติดคุก คนยากจนไม่มีเงินซื้อตัวเองออกมาจากการจำคุกจึงต้องยินยอมจ่ายคืนให้กับการกระทำผิดของตนด้วยการต้องโทษจำคุกแทน
และถึงแม้ว่าจะมีการใช้วิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในสังคมหรือปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือนจำก็ตาม แนวคิดแบบทุนนิยมก็ยังคงติดตามผู้กระทำผิดออกมาจากเรือนจำสู่มาตรการทำงานบริการสังคมแทนการกักขัง แทนค่าปรับที่คิดคำนวณการกักขังแทนค่าปรับไว้ในอัตรา 200 บาทต่อคนต่อวัน และเปลี่ยนเป็นสัดส่วนจำนวนวันที่คนยากจนซึ่งต้องโทษปรับต้องชดใช้เงินค่าปรับให้แก่รัฐเป็นแรงงานแทน ขณะที่คนร่ำรวยมีเงินจ่ายค่าปรับไม่ต้องประสบปัญหาเรื่องนี้แต่อย่างใด (วันที่นำเสนอบทความนี้ กฎหมายกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขั้นสุดท้ายของรัฐสภา)
วิธีการนี้นับได้ว่าเป็น "กระบวนการยุติธรรมทางเลือก" ที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง แต่เป็นวิธีการที่มีผลดีอย่างแท้จริงต่อสถานภาพการเป็นคนยากจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับให้แก่รัฐหรือไม่ หรือกระบวนการยุติธรรมได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนร่ำรวยหรือไม่ หรือยิ่งกลายเป็นการกำหนดมาตรการรองรับความไม่เท่าเทียมกันให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หรือว่าเป็นการแสดงการยอมรับว่าผู้ที่อยู่ใน "โลกที่สี่" เป็น “ผู้ไร้สิทธิ” และ “สามารถถูกกระทำ” ได้อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ “ต้นทุน” ในการจัดบริการด้านงานยุติธรรมจึงสูงกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเหมาะสมกับการให้บริการแก่ผู้ที่สามารถจับจ่ายทรัพย์สินเงินทองเพื่อการนี้ ได้มากกว่าที่จะเป็นกระบวนการยุติธรรมซึ่งเหมาะสมกับการเข้ารับบริการสำหรับผู้คนในสังคมทุกชนชั้นที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน จนทำให้ประชาชนรู้สึกได้อย่างสนิทใจว่าเป็น "กระบวนการยุติธรรมของประชาชน" อย่างแท้จริง มิใช่ "กระบวนการยุติธรรมของรัฐ" ที่ยากแก่การเข้าถึงและเข้าใช้บริการ
กระบวนการยุติธรรมกับการใช้วิธีการนอกระบบ
เป็นความจริงที่น่าตระหนกหากทราบว่า "รัฐ" กับ "องค์การอาชญากรรม" ต่างก็ทำงานสองอย่างเช่นเดียวกัน คือ “การเก็บภาษีสำหรับรัฐ” หรือ “เก็บค่าคุ้มครองสำหรับองค์การอาชญากรรม” และ “การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองภายใต้กฎหมายของรัฐ” หรือ “การให้ความคุ้มครองแก่ผู้จ่ายค่าคุ้มครองภายใต้กฎกติกาที่องค์การอาชญากรรมกำหนดขึ้นขององค์การอาชญากรรม” ดังนั้น บนพื้นฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบสองชุดดังกล่าว "กระบวนการยุติธรรม" กับ "วิธีการนอกระบบ" จึงต่างก็ทำหน้าที่เป็น “กลไกในการรักษากฎเกณฑ์” ที่ "ผู้มีอำนาจ" กำหนดขึ้นเช่นเดียวกัน
แตกต่างกันตรงที่ รัฐสามารถอ้างถึงความถูกต้องชอบธรรมในการจัดการกับองค์การอาชญากรรมได้อย่างชัดเจน และเคยชินต่อการที่ทึกทักว่าจะจัดกระบวนการยุติธรรมอย่างไรก็ได้ ผู้ใช้บริการก็จำต้องใช้ เพราะเป็นสินค้าผูกขาดที่ผู้ใช้บริการจะอย่างไรก็ต้องใช้ช่องทางนี้
แต่อย่างไรก็ตาม วิธีคิดดังกล่าวเริ่มถูกตั้งคำถามจากประชาชนที่มีศักยภาพ และความพร้อมที่เริ่มเข้ามามีบทบาทตรวจสอบการทำงานของภาครัฐในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหลังจากที่มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมาว่า “บริการของกระบวนการยุติธรรมนั้น ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้รับบริการเพียงใด” “มีบริการที่เหมาะสมกับความหลากหลายของกลุ่มผู้รับบริการมากน้อยเพียงใด” ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การเดินทางสู่ "ความยุติธรรม" ของ "คนยากจน" ด้วย "กระบวนการยุติธรรมราคาแพง" เมื่อเกิดคดีความขึ้นนั้น เป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทั้งของผู้ให้บริการซึ่งก็คือ "รัฐ" และ “ผู้รับบริการ” ซึ่งได้แก่ ผู้กระทำผิด เหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย พยาน ตลอดจนคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันหรือกระทำการล่วงละเมิดแก่กันด้วยความผิดฐานใดฐานหนึ่ง ทั้งๆ ที่ การอำนวยความยุติธรรมจัดว่าเป็น "บริการขั้นพื้นฐาน" อย่างหนึ่งของสังคม
แต่หากสังคมใดสร้างช่องทาง "การเข้าถึงความยุติธรรม" ไว้สูงส่ง เกินกว่าผู้คนบางกลุ่มในสังคม (ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการประกอบอาชญากรรม) จะสามารถใช้บริการได้โดยง่ายด้วยแล้ว ย่อมเล็งเห็นผลได้ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจาก "การใช้วิธีการนอกระบบ" จัดการกับความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้คนคุ้นเคยเคยชินกับการจัดการกับปัญหาด้วยความรุนแรง ใช้การแก้แค้นแทนการแก้ปัญหาโดยใช้ "คนกลางของรัฐหรือชุมชน" ในรูปของกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือก (Alternative Dispute Resolutions หรือ ADRs) ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของรัฐให้เป็นช่องทางที่ง่ายต่อการเข้ารับบริการ เพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่าจะสามารถใช้เป็นช่องทางเรียกร้องหาความเป็นธรรมได้อย่างเสมอภาคกัน
บทสรุป
ตลอดช่วงเวลายาวนานแห่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สัมพันธภาพระหว่าง "คนยากจน" กับ "กระบวนการยุติธรรม" จัดว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเคียงคู่กันตลอดมา โดยผู้คนเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นลูกค้าของกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน และบ้างก็ใช้เป็นสถานที่พักพิงยาวนานทั้งชีวิต ซึ่งถ้าหากว่า "รัฐและสังคม" ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลุ่มคนยากจนทั้งหมดในสังคม ให้กลายเป็นคนที่ไม่ยากจนโดยทั่วหน้ากันแล้ว "กระบวนการยุติธรรม" ก็ควรจะต้องเป็นหน่วยงานแรกๆที่กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจในการจัดให้มีบริการที่เหมาะสมกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างมีมนุษยธรรมเพื่อรองรับ "ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน" และจะต้องตระหนักโดยทั่วกันว่า "กระบวนการยุติธรรม" ทั้งองคาพยพจะไม่แสดงบทบาทเป็นผู้กระทำการละเมิดสิทธิหรือกระทำการอย่างมีอคติต่อคนยากจนเหล่านี้เสียเอง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย หนุ่มหน้ามน ใน บักหำแหล่